4 รมต.เกษตรฯ เรียงหน้าแจงนโยบายสำคัญที่ต้องใช้งบฯปี 65 ต่อสำนักงบประมาณ เน้นเศรษฐกิจฐานราก-นำภาคเกษตรสู่ความยั่งยืน

  •  
  •  
  •  
  •  

4 รัฐมนตรีจากกระทรวงเกษตรฯ เรียงหน้าแจงนโยบายสำคัญที่จะต้องใช้งบฯปี 65 ต่อสำนักงบประมาณ เพื่อเป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ เน้น 9 ด้าน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และนำภาคเกษตรสู่ความยั่งยืน

        นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมนำเสนอแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายการจัดทำงบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปี 2565 ต่อสำนักงบประมาณ เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณารายจ่ายของสำนักงบประมาณ ณ กรมชลประทาน สามเสน

        นายเฉลิมชัย  กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ และยังเป็นคนส่วนใหญ่ที่ยังต้องการการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ จากภาครัฐ หากสามารถสร้างความเข้มแข็งภาคการเกษตรได้ จะสามารถสร้างความมั่นคงให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังมุ่งกระตุ้นการสร้างเศรษฐกิจรากฐานให้กับประเทศ ซึ่งจากการมอบนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงได้ดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ โดยมุ่งเน้นภาพรวมในด้านต่าง ๆ คือ

      1) การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีการกระจายน้ำอย่างเหมาะสมและทั่วถึง รวมทั้งพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นาของเกษตรกรและชุมชน เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ตลอดจนป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัย 2) การป้องกันโรคระบาดจากพืชและสัตว์ ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาสในการแข็งขันของสินค้าเกษตร 3) การพัฒนาช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร โดยเพิ่มช่องทางตลาดให้หลากหลาย ทั้งในรูปแบบตลาดออนไลน์และออฟไลน์ 4) มาตรฐานการรับรองสินค้าเกษตร เพราะทั่วโลกให้ความสำคัญต่อความปลอดภัย จึงต้องมีเครื่องมือที่ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ 

    5) การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล Big Data ในการเชื่อมโยงการทำการเกษตรร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกรมีข้อมูลที่ดีและเพียงพอต่อการตัดสินใจที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์และวางแผนด้านการเกษตรได้อย่างทันต่อสถานการณ์ 6) การลดต้นทุนการผลิต เพื่อสร้างโอกาสในการแข็งขัน 7) การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพ การพัฒนาพันธุ์พืช สัตว์ ประมง เพื่อให้เกษตรกรมีพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์คุณภาพดี มีความหลากหลาย และเพียงพอกับความต้องการใช้ในการทำการเกษตร และ 9) การส่งเสริมอาชีพ ทั้งด้านประมงและปศุสัตว์

      ด้าน ร้อยเอกธรรมนัส  กล่าวเสริมว่า ในด้านของการตลาด กระทรวงเกษตรฯ มุ่งเน้นในการขยายตลาดให้กับเกษตรกร โดยในส่วนของ อ..พร้อมขับเคลื่อนภารกิจในการเป็นตลาดกลางให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นภารกิจของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเพื่อสนับสนุนภารกิจในด้านการเพิ่มปริมาณน้ำด้วย

      ส่วนนางสาวมนัญญา กล่าวว่า พร้อมดำเนินภารกิจในการส่งเสริมระบบสหกรณ์และการอบรมในด้านการทำบัญชีสหกรณ์ เพื่อเป็นรากฐานในการสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ ยังเน้นนำงานวิจัยมาช่วยพัฒนาการทำการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้อีกทางหนึ่ง

        ขณะที่นายประภัตร  กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชากรในประเทศไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับด้านเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรฯ จึงต้องมีการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ โดยในส่วนของกรมที่กำกับดูแล จึงต้องมีการทำงานเชิงรุก ทั้งด้านปศุสัตว์ ในการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนอาชีพและการป้องกันโรคต่าง ๆ เป็นต้น รวมถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอและได้คุณภาพด้วย