กนช. โชว์ผลงานโบว์แดงส่งท้ายปี 63 เดินหน้าขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ไฟเขียวสร้างอ่างฯหนองกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา รองรับการใช้น้ำในพื้นที่ EEC พร้อมเคาะแผนปฏิบัติการด้านน้ำของหน่วยงานและ อปท.ทั่วประเทศ 4 โครงการยักษ์ กว่า 4.6 หมื่นรายการ เตรียมชงเสนอ ครม. อนุมัติให้ทันขอรับงบฯปี 65
การประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) ครั้งที่ 4/2563 ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน ณ ทำเนียบรัฐบาลวันนี้ (28 ธันวาคม 2563) เวลา 13.30 น. ซึ่งเป็นการประชุม กนช. ครั้งสุดท้ายของปี 2563
พลเอก ประวิตร กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เพื่อรับทราบผลการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ผ่านมา และพิจารณาแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน การดำเนินงานตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการเป็นกรณีพิเศษให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์ ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น แม้ว่าการคาดการณ์ปริมาณน้ำท่าในปีหน้า จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าปีนี้ก็ตาม แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้เร่งช่วยเหลือและฟื้นฟูให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ กนช. เห็นชอบโครงการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมเสนอขอตั้งงบประมาณปี พ.ศ. 2565 คือ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา ดำเนินการโดยกรมชลประทาน ความจุ 15 ล้าน ลบ.ม. เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 10,000 ไร่ และในฤดูแล้ง 3,000 ไร่ ทำให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภค–บริโภค และเสริมการผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกง รวมทั้งรองรับการใช้น้ำเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วย
อีกทั้งยังได้เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยเป็นแผนปฏิบัติการของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ และแผนงบประมาณการบริหารทรัพยากรน้ำ ที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและคณะกรรมการลุ่มน้ำแล้ว ซึ่งเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 กำหนดไว้ โดยที่ประชุมวันนี้ได้พิจารณาเห็นชอบตามที่ สทนช. เสนอ จำนวน 46,887 รายการทั่วประเทศ จากที่หน่วยงานเสนอมาทั้งหมด 86,879 รายการ และหลังจากนี้ ได้มอบหมายให้ สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ รวบรวมโครงการทั้งหมดนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนการเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ.2565 ต่อไป
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กนช. วันนี้ยังได้เห็นชอบการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ซึ่งประกอบด้วย 1.แผนหลักการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่อง ของกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำท่วมเมืองพัทยาอย่างยั่งยืน ครอบคลุมพื้นที่ 226.47 ตารางกิโลเมตร ประชาชนได้ประโยชน์ 144,520 ครัวเรือน โดยมีแนวทางการในการแก้ไขปัญหาประกอบด้วย การก่อสร้างอุโมงค์เพื่อรวบรวมและขนส่งน้ำของระบบระบายน้ำหลัก ที่เกินขีดความสามารถของท่อระบายน้ำเดิมระบายลงสู่อ่าวพัทยาและอ่าวจอมเทียน ปรับปรุง/ก่อสร้างท่อระบายน้ำสายหลักและสายรอง เพื่อนำน้ำหลากมาสู่อุโมงค์รวบรวมและขนส่งน้ำ และปรับปรุงคลองหลัก คลองสาขาต่างๆ ให้มีขีดความสามารถรองรับน้ำหลากที่เกิดจากน้ำฝนได้
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์
2.แผนหลักการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยได้วางทิศทางการพัฒนาและแนวทางการขับเคลื่อนเป็น 4 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 การพัฒนาใช้น้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยการสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำสาขา ระยะที่ 2 การพัฒนาใช้น้ำโขงสู่ลุ่มน้ำข้างเคียง ระยะที่ 3 การพัฒนาใช้น้ำโขงโดยแรงโน้มถ่วงสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ โครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล และระยะที่ 4 การพัฒนาเขื่อนปากชม เพื่อประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและเสริมความมั่นคงด้านน้ำแก่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า/บริการ รวมทั้งสิ้น 334,051.35 ล้านบาท/ปี ขยายพื้นที่ชลประทานโดยรวมได้กว่า 30 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้มากถึงประมาณปีละ 30,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
3.แผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งหมด 9 แผนงานตามที่กรมชลประทานเสนอ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่ม 1 การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำและคลองเดิม ได้แก่ แผนเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา แผนเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน แผนปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก และแผนปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก กลุ่ม 2 การบริหารจัดการพื้นที่ ได้แก่ แผนการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ และแผนพื้นที่รับน้ำนอง กลุ่ม 3 การสร้างคลองระบายน้ำหลากสายใหม่ ได้แก่ แผนคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร แผนคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย และแผนคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนนวงแหวนรอบที่ 3 ระยะเวลาดำเนินการ 13 ปี (2560–2572)
4.โครงการเพื่อการพัฒนาปี 2564 ของการประปาส่วนภูมิภาค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิต ระบบส่งน้ำ และระบบจ่ายน้ำประปาในพื้นที่ที่ประสบปัญหา รองรับความต้องการใช้น้ำใน 10 ปี ข้างหน้าอย่างพอเพียง เป็นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและส่งเสริมสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น จำนวน 19 โครงการ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 143,136 ลบ.ม./วัน และสามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 104,800 ราย หรือประมาณ 243,852 คน
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการกำหนดรูปแบบและแนวทางการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนอง สำหรับเป็นแนวทางใช้ในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) ใช้เก็บกักน้ำแบบถาวร (เก็บน้ำไว้ช่วงฤดูแล้ง) 2) ใช้เก็บกักน้ำแบบชั่วคราว (เก็บน้ำหลังเก็บเกี่ยว) และ 3) ใช้เป็นทางน้ำผ่าน (ช่วงน้ำหลาก) โดยแต่ละรูปแบบกำหนดให้สามารถเลือกใช้วิธีในการพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำได้ทั้งหมด 3 วิธี คือ ก่อสร้างทำนบดินใหม่ ปรับปรุงโครงสร้างเดิม และก่อสร้างอาคารควบคุมบังคับน้ำและยังเห็นชอบแนวทางและขั้นตอนการดำเนินงานการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนอง ตลอดจนเห็นชอบการจัดทำบัญชีพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนอง ที่กรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำได้ดำเนินการ จำนวน 174 พื้นที่ ขนาดพื้นที่เก็บน้ำรวม 2,323,208 ไร่ แบ่งเป็น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 12 พื้นที่ ลุ่มน้ำยม 2 พื้นที่ ลุ่มน้ำบางปะกง 1 พื้นที่ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ 82 พื้นที่ ลุ่มน้ำชี 41 พื้นที่ และลุ่มน้ำมูล 36 พื้นที่
ทั้งนี้รองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำหนดรูปแบบและแนวทางการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองไปดำเนินการจัดทำแผนหลักการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรม โดยกำหนดหน่วยดำเนินการและจัดทำโครงการนำร่องให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝน ปี 2564 และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทยกำหนดหลักเกณฑ์และหรือวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกำหนดค่าทดแทนการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝน ปี 2564 และเสนอกระทรวงการคลัง ต่อไป