“มนัญญา” ชี้ปัจจุบันระบบสหกรณ์มีบทบาทในภาคการเงินของประเทศเพิ่มขึ้น ระบุหากธุรกิจของสหกรณ์เกิดความคลอนแคลน จะกระทบต่อระบบการเงินและการธนาคารของประเทศ หากเกิดการทุจริตจะก่อให้เกิดผลกระทบและ ความเสียหายต่อประชาชนโดยตรง กำชับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ต้องดำเนินงานให้โปร่งใส ปราศจากการทุจริต เป็นไปตามมาตรฐาน และต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีด้วย
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดสัมมนา “ทิศทางการขับเคลื่อนภารกิจกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ปี 2564” ซึ่งจัดโดย กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ สถาบันเกษตรกร และเกษตรกร เพื่อช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนผ่านระบบสหกรณ์ อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพ และช่วยส่งเสริมการออม เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย มีวินัยทางการเงินที่ดี สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน
ดังนั้นกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้กับสถาบันเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งในด้านของการสอบบัญชีและวางระบบบัญชีให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร สามารถจัดทำบัญชีและงบการเงินได้ และในด้านการบัญชีให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยให้เกษตรกรรู้รายรับ รายจ่าย มองเห็นช่องทางในการลดต้นทุนการผลิต ลดรายจ่าย ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ช่วยส่งเสริมการออม และสร้างวินัยทางการเงินที่ดี อันเป็นการช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้
ปัจจุบันสหกรณ์ได้เข้ามามีบทบาทในภาคการเงินของประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของเงินรับฝากและสินเชื่อ ซึ่งหากธุรกิจของสหกรณ์เกิดความคลอนแคลน ก็อาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงินและการธนาคารของประเทศ และเนื่องจากเป็นสถาบันที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน หากเกิดการทุจริตจะก่อให้เกิดผลกระทบและ ความเสียหายต่อประชาชนโดยตรง
ดังนั้นจึงมอบนโยบายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มุ่งเน้นการทำงานตรวจสอบระบบการเงิน การบัญชี การควบคุมภายใน และการดำเนินงานของสหกรณ์ ให้โปร่งใส ปราศจากการทุจริต เป็นไปตามมาตรฐาน และมีความรู้เท่าทันเทคโนโลยี ซึ่งหากสามารถตรวจพบแต่เนิ่น ๆ และอย่างทันท่วงที ก็จะสามารถระงับยับยั้ง หรือบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่พี่น้องประชาชนได้
นอกจากนี้ ได้มุ่งหวังให้บุคลากรผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยต่าง ๆ มีการพัฒนาตนเองสู่ความเป็นมืออาชีพ รวมทั้งเตรียมความพร้อมสู่การปรับเปลี่ยนเป็นองค์กรดิจิทัล เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และรูปแบบการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน และร่วมกันบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและนำพาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรไทย
ด้านนายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้กำหนดแผนกลยุทธ์กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เพื่อเป็นกรอบทิศทางการขับเคลื่อนภารกิจของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ให้สอดคล้องกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ ตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ความสำคัญ ในการพัฒนาภาคเกษตรให้มีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยกำหนดโมเดลการพัฒนาเป็น “CAD ๔.๐ : Value – Based Strategies” ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วยนวัตกรรม เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ภายในปี ๒๕๖๕ สหกรณ์และเกษตรกรมีความเข้มแข็งด้านการเงินการบัญชีที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้” มุ่งเป้าหมายการบริการ คือ สหกรณ์มีความเข้มแข็งด้านการเงินการบัญชี และเกษตรกรมีภูมิคุ้มกันทางการเงิน ประกอบด้วยกลยุทธ์ 3 ด้าน คือ
1.พัฒนาความเข้มแข็งด้านการเงินการบัญชีแก่สหกรณ์และสถาบันเกษตรกร มุ่งเน้นด้านการทำงานการสอบบัญชีของสถาบันเกษตรกรเป็นหลัก 2.ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการจัดทำบัญชีแก่เกษตรกร มุ่งเน้นด้านการทำงานการสอนจัดทำบัญชีแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างวินัยในการใช้จ่ายและสร้างความเคยชินในการออม นำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และ 3.พัฒนาระบบการบริหารจัดการสู่องค์กรดิจิทัล มุ่งเน้นด้านการพัฒนาองค์กรให้ทันสมัยรองรับการเปลี่ยนแปลงพร้อมให้บริการแบบมืออาชีพ
อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 2564 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีเป้าหมายในการพัฒนามาตรฐานการบัญชีและการสอบบัญชีแก่สหกรณ์และสถาบันเกษตรกร เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และมุ่งสู่มาตรฐานสากล อาทิ การพัฒนาระบบการควบคุมคุณภาพการสอบบัญชี เพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดทำบัญชีและงบการเงิน ยกระดับชั้นคุณภาพการควบคุมภายใน การพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสหกรณ์และสถาบันเกษตรกร ให้สามารถนำข้อมูลทางบัญชีมาใช้ในการบริหารจัดการ สามารถพึ่งพาตนเองได้ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกสหกรณ์และสถาบันเกษตรกรได้อย่างสูงสุด
“การจัดโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ทิศทางการขับเคลื่อนภารกิจกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ปี 2564” ระหว่างวันที่ 17 – 19 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา จึงเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนภารกิจ สามารถปฏิบัติงานตามกรอบแนวทางการปฏิบัติงานที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด บุคลากรของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์โดยเฉพาะผู้บริหารในทุกระดับ มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งด้านงานเทคนิค งานบูรณาการ และงานด้านนโยบายของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นในทิศทางเดียวกัน” นายโอภาส กล่าว