ก.เกษตรฯ ระดมมันสมองถกสร้างแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะฉบับสมบูรณ์

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ ผนึกหน่วยงานทุกภาคส่วน เปิดเวทีระดมสมองสร้างแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ ฉบับสมบูรณ์ มุ่งใช้เทคโนโลยีพัฒนาเกษตรไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรของไทย วางรากฐานงานเกษตรอัจฉริยะของประเทศ

       นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 กล่าวมอบนโยบาย ในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดทำแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฉบับสมบูรณ์)” ผ่านระบบวิดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ โปรแกรม Zoom ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 1 กันยายน 2563 ณ ห้องประชุม 801 กรมพัฒนาที่ดิน ว่า ในปี 2563 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายปฏิรูปภาคเกษตรกรรมไทย มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีเกษตร 4.0 มาช่วยสนับสนุนการพัฒนาการเกษตร มีการพัฒนาแปลงเรียนรู้และเกษตรแปลงใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรแม่นยำ เกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Agriculture และ IoT Platform เป็นต้น

        นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกรร่วมประชุม ให้ข้อคิดเห็น และจัดทำข้อเสนอโครงการ ประกอบด้วยหน่วยงานหลัก 4 ด้าน คือ ด้านการวิจัย ด้านการส่งเสริมพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้านงบประมาณ และด้านการพัฒนาเกษตรกร เป็นการวางรากฐานการเกษตรอัจฉริยะของประเทศอย่างเป็นระบบ โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทยต่อไป

       อย่างไรก็ตามการแข่งขันที่มากขึ้นในระดับสากล ประเทศไทยต้องพยายามลดการนำเข้าและลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยบูรณาการร่วมมือกับทุกภาคส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน องค์กรเกษตรกร รวมถึงภาคอุตสาหกรรม โดยใช้แนวทางแบบ sandbox management เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีด้านการเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทยได้ง่าย ในราคาที่เป็นธรรม อีกทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร ต้องเร่งขับเคลื่อนนำเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะ เช่น เครื่องจักรกลการเกษตร เซนเซอร์ทางการเกษตร หุ่นยนต์ทางการเกษตร และ IoT Platform มาใช้ในกระบวนการผลิตจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตร และยังเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรของไทยอีกด้วย

          ด้าน ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ กล่าวว่า จากนโยบาย Thailand 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ปี พ.ศ. 2561-2580 ได้กำหนดให้มีแผนแม่บทด้านการเกษตรและแผนย่อยเกษตรอัจฉริยะ ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายการขับเคลื่อนงานด้านเกษตรอัจฉริยะมาตั้งแต่ปี 2560 ภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

       ปัจจุบันคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ได้สานต่อการทำงานด้านเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครอบคลุม การจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในเชิงการวิเคราะห์ เพื่อสนับสนุนระบบเกษตรอัจฉริยะ การพัฒนา IoT Platform การขยายผลแปลงใหญ่เกษตรอัจฉริยะ ตลอดจนการบูรณาการขับเคลื่อนงานร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม หรือ ศูนย์ AIC จังหวัด ทั้ง 77 จังหวัด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการประมวล Innovation Catalog และ Quick Win ที่แต่ละศูนย์ AIC จะขับเคลื่อนดำเนินการ รวมถึงการทำงานร่วมหน่วยงานภายนอก เช่น ธ.ก.ส. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลอดจนได้มีการจัดทำแผนแม่บทเกษตรอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง

         สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ธ.ก.ส. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย Smart Farmer/Young Smart Farmer ศูนย์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม Agritech and Innovation Center (AIC)  รวมจำนวน 120 คน โดยมี 2 กิจกรรม คือ 1. การเสวนา เรื่อง การสนับสนุนและความคาดหวังในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทย และ 2. การแบ่งกลุ่ม เพื่อจัดทำข้อเสนอโครงการ เพื่อให้ได้ข้อเสนอโครงการ งบประมาณ ซึ่งจะทำให้ได้แผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถนำไปใช้ในการขับเคลื่อนงานด้านเกษตรอัจฉริยะของประเทศ ต่อไป