สภาพอากาศเป็นใจ กรมฝนหลวงฯส่ง 5 หน่วยปฏิบัติการฯ จู่โจมทำฝนเทียม 3 ภาคช่วยพื้นที่เกษตร-อ่างเก็บน้ำ-ป่า

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                            สุรสีห์ กิตติมณฑล

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร  ส่ง 5 หน่วยปฏิบัติการฯ จู่โจมทำฝนเทียม  หลังจากสถานีเรดาร์ในพื้นที่ 3 ภาคอีสาน-ตะวันออก-ใต้ พบสภาพภูมิอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทางเกษตร-อ่างเก็บน้ำ-เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่า

         วันที่ 3 เมษายน 2563  นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ร่วมกับกองทัพบกและกองทัพอากาศ ในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยคลี่คลายสถานการณ์ภัยแล้ง ไฟป่าหมอกควัน รวมถึงบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บจากพายุฤดูร้อน โดยมีการติดตามสภาพอากาศเป็นประจำทุกวันอย่างต่อเนื่องเพื่อวางแผนช่วยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

ล่าสุดเมื่อตอนเช้าของวันนี้ (3 เม.ย.63) จากการติดตามสภาพอากาศ เพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวง พบว่า ผลการตรวจอากาศจากสถานีเรดาร์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการ ฝนหลวง ในช่วงเช้านี้จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายโดยหน่วยปฏิบัติการฯ 5 หน่วย ได้แก่

       หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ขอนแก่น ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ขอนแก่น จ.ชัยภูมิ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ ,หน่วยปฏิบัติการฯ จ.บุรีรัมย์ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำ จ.บุรีรัมย์ ,หน่วยปฏิบัติการฯ จ.นครราชสีมา ช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคจ.นครราชสีมา และ จ.ชัยภูมิ 

      หน่วยปฏิบัติการฯ จ.จันทบุรี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ระยอง จ.ชลบุรี จ.ตราด และเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์, -หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สุราษฎร์ธานี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง พื้นที่
ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช พื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความเค็ม ทะเลสาบสงขลา จ.สงขลาและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช

       อย่างไรก็ตาม พื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง สภาพอากาศยังไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง เนื่องจากค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆค่อนข้างน้อย หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ดังกล่าว จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีการเปลี่ยนแปลงจากการได้รับพลังงานแสงอาทิตย์ และเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไปทันที ทั้งนี้ เกษตรกร และพี่น้องประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทางเพจ Facebook, Line, Instagram, Twitter และเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

    สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (2 เม.ย.2563) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 9 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จังหวัดเพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา สกลนคร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ หนองบัวลำภู จันทบุรี สระแก้ว สงขลา สตูล พัทลุง ตรัง พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนจำนวน 4 แห่ง อ่างเก็บน้ำจำนวน 3 แห่ง เพิ่ม
ความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ และบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บบางส่วนของจังหวัดมุกดาหารและยโสธร

      ด้านแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 3 เมษายน 2563 ตามที่กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง มีจำนวน 23 จังหวัด 141 อำเภอ 728 ตำบล 3 เทศบาล 6,188 หมู่บ้าน/ชุมชน อยู่ในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ 6 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออก 7 จังหวัด ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 22 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 183 แห่ง ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้ำต้นทุนค่อนข้างน้อยมาก จึงขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนรณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย