“ประวิตร” นำคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่ อีอีซี

  •  
  •  
  •  
  •  

“ประวิตร” นำคณะลงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ พร้มขอบคุณคนเมืองจันท์ปันน้ำ-ทุกภาคส่วนลดใช้น้ำ 10% ร่วมฝ่าวิกฤติแล้งได้ ขณะที่เลขาธิการ สทนช. การันตีมาตรการเร่งด่วนของ กอนช. ที่กำหนดให้ปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ EEC มีเพียงพอจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 แน่นอน

     วันที่ 18 มีนาคม 2563  พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางป้องกันแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ และมาตรการการแก้ไขปัญหา ณ มณฑลทหารบกที่ 14 ค่ายนวมินทราชินี อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี จากนั้นพร้อมคณะเดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำที่อ่างเก็บน้ำบางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมด้วย นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ผู้แทนส่วนราชการและเอกชนในพื้นที่ ให้การต้อนรับ

     พลเอก ประวิตร  กล่าวว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกโดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC พบว่ายังมีหลายพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการ ขาดแคลนน้ำ แม้ว่าฝนตกลงมาในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาและทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำอยู่บ้าง แต่มีปริมาณไม่มากนัก ดังนั้น กอนช. จึงได้กำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ โดยหนึ่งในมาตรการคือการ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรมและประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำและลดการใช้น้ำลง 10% ซึ่งจากการติดตามความก้าวหน้าของมาตรการ ทุกภาคส่วนในพื้นที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งเบาบางลงและชะลอ การเกิดผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงไปได้มาก นอกจากนี้ยังขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาวังโตนด ชาวจันทบุรี สทนช. กรมชลประทานและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด จ.จันทบุรี ให้แก่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง จำนวน 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนช่วยเหลือพื้นที่ จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ตลอดฤดูแล้งปีนี้

     “เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ขอมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการดังนี้ 1.จังหวัดเป็นหน่วยงานหลักในการสำรวจ ติดตาม สถานการณ์ ขาดแคลนน้ำ และให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยอย่างทันท่วงที 2.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท East Water การนิคมอุตสาหกรรมฯ และมณฑลทหารบกที่ 14 ร่วมกันป้องกันและดำเนินมาตรการ ลดผลกระทบในพื้นที่ EEC โดยพิจารณาปรับปรุง พัฒนาเชื่อมโยงน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติม สูบน้ำจากลำน้ำธรรมชาติเติมอ่างเก็บน้ำ กรณีมีฝนตก 3.รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนลดการใช้น้ำลงอย่างน้อย 10% อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ปริมาณน้ำเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งและเกิดความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่อย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

                                                                              ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

     ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า กอนช. ได้กำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ EEC มีเพียงพอจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.63 โดยการเชื่อมโยงโครงข่ายเติมน้ำใน 3 อ่างเก็บน้ำหลักในพื้นที่ จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี ได้แก่ 1.อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ดำเนินการแบ่งปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกด จ.จันทบุรี ระบายลงคลองวังโตนด และใช้ ระบบสูบผันน้ำคลองวังโตนด มาเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ ช่วง 1-25 มี.ค.63 รวม 10 ล้านลบ.ม. และการสร้างระบบสูบกลับชั่วคราวจากคลองสะพานเพื่อสูบน้ำในกรณีมีฝนตกในพื้นที่ คิดเป็นปริมาณน้ำประมาณ 0.15 ล้าน ลบ.ม./วัน 2. อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง ดำเนินการสูบผันน้ำลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 0.6 ล้าน ลบ.ม./วัน และสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่มาลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลอีก 3 ล้าน ลบ.ม. ซ่อมแซมระบบสูบกลับจากแม่น้ำระยอง เพื่อสูบน้ำในกรณีมีฝนตก ในพื้นที่ คิดเป็นปริมาณน้ำ 0.10 ล้าน ลบ.ม./วัน

       ส่วนนิคมอุตสาหกรรมมาตตาพุดใช้น้ำจากคลองน้ำหูเพื่อลดการใช้น้ำจาก อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ในปริมาณวันละ 0.05 ล้าน ลบ.ม. และ 3.อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี สูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทรฯ จ.ชลบุรี 3 ล้านลบ.ม. และการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาฯ จ.ปราจีนบุรี ลงแม่น้ำ บางปะกงและสูบต่อไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ อีก 0.18 ล้าน ลบ.ม./วัน กรณีมีฝนตกในลุ่มน้ำบางปะกงผลักดันน้ำเค็มลงมา ต่ำกว่าจุดสูบน้ำ

      นอกจากนี้ยังมีมาตรการเสริมอีก 4 มาตรการเพื่อรองรับมาตรการหลักที่กล่าวไปข้างต้น ได้แก่ 1. การเจรจาซื้อน้ำจากแหล่งน้ำเอกชนเช้าในระบบน้ำของจ.ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา อีก 14 ล้าน ลบ.ม. 2. การลดการใช้น้ำจากทุกภาคส่วน ในพื้นที่ 10% 3. การลดการใช้น้ำของโรงไฟฟ้าเอกชนโดยการเดินระบบอยู่ในโหมด Stand Bye หรือเดินระบบเท่าที่จำเป็น และ 4. ผู้ประกอบการในนิคมอุตสากรรมในพื้นที่ จ.ระยอง ลดการใช้น้ำ 10% ทั้งนี้ เพื่อรองรับการใช้น้ำเพื่อการท่องเที่ยว ในพื้นที่เมืองพัทยา การประปาส่วนภูมิภาคสาขาพัทยา ยังมีแผนติดตั้งระบบสูบน้ำเคลื่อนที่จากอ่างเก็บน้ำห้วยตู้ 1,2 และ อ่างเก็บน้ำมาบฟักทอง 1,2 รวม 3 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนจะมีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดแล้งนี้