งัด 4 มาตรการ ขอ 4.5 หมื่นล้านสู้โควิด-19 กับภัยแล้ง

  •  
  •  
  •  
  •  

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

มติ กบง.งัด 4 มาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 และภัยแล้ง รวมเงิน 4.5 หมื่นล้าน ชงเข้าที่ประชุม ครม.วันที่ 10 มีนาคม 2563 นี้ ชี้เป็นจ่ายค่าคืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า กว่า 21 ล้านครัวเรือน 3 หมื่นล้านในรอบบิลเดือนมีนาคม ประกาศลดค่าเอฟที ตรึงค่าไฟฟ้า 3 เดือนลดค่าไฟได้ 1 หมื่นล้าน ขยายการชำระค่าไฟออกไปได้นานถึง 6 เดือน  พร้อมนำเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า 4 พันล้านและจัดสรรเพิ่มพัฒนาแหล่งน้ำสร้างงานในชนบทแก้ภัยแล้ง นายกฯการันตีค่าประกันมิเตอร์ ได้ทุกบ้าน

         วันที่ 9 มีนาคม 2563  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 1 ประจำปี 2563 ที่กระทรวงพลังงาน โดยมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้การต้อนรับ ว่า มาตรการเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 แม้ว่าจะผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เศรษฐกิจแล้วก็ตาม ทุกอย่างจะต้องผ่านการคัดกรองจากในที่ประชุม ครม.ใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่ทุกโครงการจะต้องผ่านทั้งหมด รวมถึงการจ่ายเงินเยียวยาให้คนละ 2,000 บาท ก็จะยังไม่มีการจ่ายแต่อย่างใด  ในส่วนของมาตรการที่ได้เห็นชอบแล้ว คือเป็นการคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า ให้หมดทุกครัวเรือนที่มีบ้านของตัวเอง ที่เป็นลูกค้าชั้นดี ยกเว้นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ รวมถึงการลดค่าไฟ ประปา น้ำมัน แก๊ส ซึ่งจะมีการพิจารณาในที่ประชุม ครม. วันที่ 10 มีนาคม นี้

                                                                               สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.กระทรวงพลังาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนจากไวรัสโควิด-19 และภัยแล้ง มี 4 มาตรการเร่งด่วน จำนวนเงิน 4.5 หมื่นบาท ประกอบด้วย มาตรการแรก การคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าให้กับครัวเรือนทั่วประเทศ จำนวน 21.5 ล้านราย โดยจะคืนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย ประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก และประเภทที่ 5 โรงแรม วงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาท ส่วนเงินที่แต่ละครัวเรือนจะได้รับคืนขึ้นอยู่กับการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไว้เท่าใด มีตั้งแต่ 300-6,000 บาท โดยจะเริ่มทยอยคืนในรอบบิลสิ้นเดือนมีนาคม 2563 นี้ ประชาชนสามารถยื่นขอเงินคืนได้จากไฟฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งจะมีเงินกลับคืนสู่พี่น้องประชาชนรวม 3 หมื่นล้านบาท

        มาตรการที่ 2 ได้ลดค่าไฟเพื่อลดภาระกับประชาชน จากเดิมค่าไฟที่จะจ่ายจริงอยู่ที่ 3.70 บาทต่อหน่วย แต่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงน (กกพ.) ได้ปรับลดค่าเอฟทีทำให้ปัจจุบันประชาชนจ่ายค่าไฟอยู่ที่ 3.60 บาทต่อหน่วย และให้ดำเนินการตรึงราคาต่อไปจากเดิมที่จะสิ้นสุดเดือนเมษายน นี้ เพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระกับประชาชน พร้อมกันนี้ได้ให้ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เข้ามาร่วมตรึงราคาช่วง 3 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 อีก 11 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟลดลงมาอยู่ที่ 3.50 บาทต่อหน่วย คิดเป็นเงินที่ทั้ง 3 หน่วยงาน กกพ. กฟภ. และกฟน. จะนำมาอุดหนุนลดค่าไฟครั้งนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

         มาตรการที่ 3 ได้ขยายเวลาการชำระค่าไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 2 รอบบิล ในช่วงเดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคม โดยสามารถขยายการชำระค่าไฟออกไปได้นานถึง 6 เดือน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระประชาชน โดยผู้ได้รับสิทธิ์นี้จะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก รวมถึงโรงแรมที่จะได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

      และมาตรการที่ 4 นำเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เริ่มที่จำนวน 4 พันล้านบาท เดิมใช้เงินก้อนนี้ดำเนินการใน 72 จังหวัด เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในพื้นที่ ทางกระทรวงพลังงานจะบูรณาการร่วมกับกระทวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 พันล้านบาทและจะมีเพิ่มเติมเข้ามาอีกเพื่อนำไปสร้างงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การขุดลอกคลอง หนอง บึง การขุดบ่อบาดาล เป็นต้น เป็นการสร้างงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งจะมีการเร่งรัดโครงการรวมถึงขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงการปรับโครงการเพื่อให้สอดรับการใช้เงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
       “ทั้ง 4 มาตรการเร่งด่วนนี้ จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุม ครม. ในวันที่ 10 มี.ค.63 นี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากไวรัสโควิด-19” นายสนธิรัตน์ กล่าว