นายกฯนั่งหัวโต๊ะจี้หน่วยงานด้านน้ำ จัดการภัยแล้ง รับสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงพ.ค.-มิ.ย.นี้

  •  
  •  
  •  
  •  

นายกฯนั่งหัวโต๊ะ มอบนโยบายขับเคลื่อนหน่วยงานด้านน้ำ มุ่งให้บริหารจัดการภัยแล้ง และเตรียมการเก็บน้ำฤดูฝนปี 2563 อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ พร้อมเร่งเครื่องเตรียมพร้อมรับมือฝ่าวิกฤติฝนทิ้งช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน นี้

      วันทีี่ 2 มีนาคม 2563  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจง  มอบนโยบายการบริหารจัดการภัยแล้งและเตรียมการเก็บน้ำฤดูฝนปี 2563 โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ      รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานเอกชน เครือข่ายและผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ

      พลเอกประยุทธ์  กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาด้านน้ำ ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นเท่านั้น แต่มีความตั้งใจที่จะมุ่งไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต จึงได้จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศในระยะ 20 ปี โดยมีแผนงานโครงการสำคัญที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาในพื้นที่ภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก ที่ต้องมีการศึกษาล่วงหน้ากว่า 450 โครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนของรัฐบาล สามารถเพิ่มน้ำต้นทุน กว่า 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ได้ขับเคลื่อนไปสู่การดำเนินการแล้ว อาทิ โครงการอุโมงค์ผันน้ำแม่แตง–แม่งัด–แม่กวง จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย

     โครงการบางระกำโมเดล จ.พิษณุโลก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลกำลังผลักดันในอนาคต เช่น การเชื่อมโยงน้ำเพื่อเติมน้ำเข้าสู่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำต้นน้ำที่มีศักยภาพ การจัดหาพื้นที่แก้มลิงขนาดใหญ่รองรับน้ำหลาก เป็นต้น จำนวนกว่า 60 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ได้กว่า 4,700 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์กว่า 7 ล้านไร่ ราษฎรได้ประโยชน์กว่า 6 แสนครัวเรือน รวมทั้งยังมีมาตรการอื่นที่ดำเนินการควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าในทุกภาคส่วน การฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

     สำหรับในปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยมาก รวมทั้งฝนตกท้ายพื้นที่กักเก็บน้ำที่มีอยู่เดิม อีกทั้ง การคาดการณ์ปริมาณฝนรวมของกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2563 เกือบทุกภาคของประเทศ “ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ” 3-5 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบัน ได้มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) รวม 5,800 กว่าหมู่บ้าน (7.8 %) ใน 22 จังหวัด และเนื่องจากแนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งที่ยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง รัฐบาลจึงได้อนุมัติวงเงินเพิ่มเติม นอกเหนือจากงบประมาณปกติดังกล่าว ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ที่ให้ดำเนินโครงการเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำและเพิ่มน้ำต้นทุนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและรองรับปริมาณน้ำในฤดูฝน พ.ศ. 2562 จำนวน 144 โครงการ โดยใช้งบกลางเพิ่มเติมปี 2562 ซึ่งสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้อีก 28.12 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้รับประโยชน์กว่า 85,000 ครัวเรือน

     หลังจากนั้น ครม. ยังได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 เพิ่มเติม อีกจำนวน 2,041 โครงการ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 เพื่อแก้ไขปัญหาด้านอุปโภคบริโภค ในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ แบ่งออกเป็น พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำในเขตการประปาส่วนภูมิภาค ครอบคลุม 22 จังหวัด จำนวน 50 โครงการ อาทิ การขุดเจาะบ่อบาดาล การจัดหาแหล่งน้ำผิวดิน การวางท่อน้ำดิบ และสถานีสูบน้ำ เป็นต้น และพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำนอกเขตการประปาส่วนภูมิภาค ครอบคลุม 37 จังหวัด สนับสนุนสถานพยาบาล 7 แห่ง จำนวน 1,991 โครงการ

     หลังจากที่รัฐบาลได้มีคำสั่งจัดตั้ง “กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ”ขึ้น โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ร่วมกันวางแผนในการป้องกันและบรรเทาปัญหาเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และจากการติดตามสถานการณ์พบว่ามีแนวโน้มที่ฝนอาจจะทิ้งช่วงในช่วงเดือน พ.ค. – มิ.ย. 63 และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นอีก รัฐบาลจึงมีนโยบายเร่งรัดการจัดทำแหล่งเก็บน้ำเพื่อเก็กกักน้ำในฤดูฝนนี้ โดยมอบให้หน่วยงานตรวจสอบแผนงานโครงการที่มีความพร้อม และที่สามารถดำเนินการได้ทันที โดยต้องแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2563 ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่สามารถเร่งรัดดำเนินการได้ทั้งสิ้น 14 หน่วยงาน จำนวน 1,320 โครงการ โดยเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาตรเก็บกักน้ำได้ 276 ล้านลูกบาศก์เมตร

     พร้อมทั้งยังให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอโครงการแหล่งเก็บน้ำในระดับท้องถิ่น ได้แก่ การขุดลอกหรือซ่อมแซมแหล่งน้ำเดิม ขุดสระน้ำหรือแหล่งเก็บน้ำเพิ่ม และฝายชะลอน้ำ อีกกว่า 7,100 โครงการ โดยเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาตรเก็บกักได้ 122 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงต่อภาคการผลิตรวมทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะเร่งรัดโครงการสำคัญและโครงการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมดำเนินการเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาน้ำได้อย่างยั่งยืน โดยหาแหล่งเงินที่เหมาะสม อาทิ 1) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี 2) โครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์-หนองค้อ-บางพระ จังหวัดระยอง-ชลบุรี 3) โครงการปรับปรุงคลองยม – น่าน จังหวัดสุโขทัย-อุตรดิตถ์ เป็นต้น

      นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า เพื่อให้การบรรเทาทุกข์ของประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงจากเหตุการณ์ในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังนี้ 1. หน่วยงานที่ขอรับงบประมาณเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2562/2563 ให้เร่งรัดดำเนินการแล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที และให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยให้มีการติดตามประเมินผลและรายงาน ให้รัฐบาลทราบผ่าน สทนช. อย่างต่อเนื่องด้วย 2. กระทรวงมหาดไทยต้องตรวจสอบพื้นที่ในเชิงประจักษ์ ถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงของพื้นที่ให้ครอบคลุม  3. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องเร่งรัดปลูกฟื้นฟู พื้นที่ป่าต้นน้ำ โดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงภาคเอกชน ประชาชน เพื่อกำหนดแผนดำเนินการให้ชัดเจน

      4. ทุกหน่วยงานและท้องถิ่นต้องตรวจสอบสภาพอาคารควบคุมน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเก็บกักน้ำ ในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง ให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 5. สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูฝน รวมไปถึงการคาดการณ์ล่วงหน้าไปถึงฤดูแล้ง อย่างรอบคอบ  6. ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องมีบทบาทในการกำกับดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่อย่างใกล้ชิด ไม่ให้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น และ 7. ต้องประชาสัมพันธ์ รณรงค์ แจ้งเตือนให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล สถานการณ์น้ำ เพื่อช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที พร้อมรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลด้วย