สทนช.นำเสนอผลการศึกษาแผนหลักการจัดทำผังน้ำ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนหวังปรับปรุงให้สมบูรณ์รอบด้าน ก่อนใช้เป็นแผนหลักผังน้ำขยายผลทุกลุ่มน้ำ ยก “ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำจันทบุรี” นำร่อง เน้นควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินตามระบบทางน้ำ เพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาระบบโครงสร้างต่าง ๆ หวังแก้ไขปัญหาด้านน้ำของประเทศในทุกมิติอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมปัจฉิมนิเทศและรับฟังความคิดเห็น โครงการจัดทำแผนหลักการจัดทำผังน้ำ ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ว่า ตามที่ สทนช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาโครงการจัดทำแผนหลักการจัดทำผังน้ำ เพื่อกำหนดกรอบแนวทาง วิธีการศึกษาการจัดทำผังน้ำที่เหมาะสม รวมถึงรูปแบบแผนที่ผังน้ำให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและใช้ประโยชน์ได้ของลุ่มน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เป็นสำคัญ ซึ่งได้คัดเลือกพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำจันทบุรีเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการศึกษา ผ่านกระบวนการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน ตัวแทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งสิ้น 3 ครั้ง ดังนั้น การประชุมปัจฉิมนิเทศและรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาของโครงการศึกษาแผนหลักการจัดทำผังน้ำ และผลการจัดทำผังน้ำตัวอย่าง รวมทั้งรายการประกอบและฐานข้อมูลผังน้ำ พื้นที่ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำจันทบุรี ที่ได้ดำเนินการไปแล้วภายหลังจากนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ ไปปรับแก้ในการศึกษา รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และชี้แจงข้อสงสัยเพิ่มเติม เพื่อนำไปปรับปรุงรายงานการศึกษาให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ก่อนนำไปเป็นแผนหลักจัดทำผังน้ำในทุกลุ่มน้ำให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในปี 2564 โดยเร็วและมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันมากที่สุด
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์
“การกำหนดรูปแบบและแผนที่ผังน้ำ ตามที่ สทนช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการศึกษาครั้งนี้ จะเน้นการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในขอบเขตพื้นที่ตามระบบทิศทางการไหลของน้ำที่ได้กำหนดแนวเขตไว้ในผังน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ทั้งลักษณะภูมิประเทศ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วย เพื่อสนับสนุนและเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย แผนแม่บท และแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตลอดจนการพัฒนาโครงการหรือระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยไม่ให้กีดขวางการไหลของน้ำ นอกจากนี้ ผังน้ำดังกล่าวจะสามารถนำไปเชื่อมโยงกับผังเมืองตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง เพื่อใช้เป็นกรอบในการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำในภาพรวมของประเทศให้เกิดประสานสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งหลังจากนี้ สทนช. จะได้นำข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ไปปรับแก้ไขในรายงานผลการศึกษาให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ได้กรอบการจัดทำผังน้ำที่เหมาะสมและมีประโยชน์มากที่สุด เพื่อให้ทุกลุ่มน้ำนำไปดำเนินการจัดทำผังน้ำในลุ่มน้ำของตัวเอง และทยอยประกาศเป็นประกาศคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในปี 2563 และคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ครอบคลุมในทุกลุ่มน้ำได้ภายในปี 2564” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
สำหรับการจัดทำ “ผังน้ำ” ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 นั้นครอบคลุมถึงกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำผังน้ำ การประกาศใช้ และรายละเอียดอื่น ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่า ผังน้ำครอบคลุมระบบน้ำทั้งหมดในพื้นที่ เชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำออกสู่พื้นที่แหล่งน้ำ ทะเล หรือทางออกทางน้ำระหว่างประเทศ ดังนั้น การจัดทำผังน้ำจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปและหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูล วิเคราะห์กำหนดผังน้ำ บังคับใช้ผังน้ำตามกฎหมาย และใช้ประโยชน์เพื่อไปประกอบเป็นข้อมูลในการดำเนินกิจกรรมด้านน้ำ ทั้งในภาวะปกติ ภาวะน้ำแล้ง ภาวะน้ำท่วม โดยภายหลังจากที่ได้มีการประกาศใช้ผังน้ำแล้ว การใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำจะต้องมีการพิจารณาอย่างมีนัยสำคัญด้วย