“ผู้อำนวยการใหญ่ FAO” ชื่นชมนโยบายปฏิรูปการเกษตรไทย

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                 อลงกรณ์ พลบุตร

ผู้อำนวยการใหญ่ FAO ชื่นชมนโยบายปฏิรูปการเกษตรไทยของกระทรวงเกษตรฯ ชี้ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้เข้าถึงตลาดและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเห็นผล พร้อมโชว์ความสำเร็จโรงเรือนอัจฉริยะ เทคโนโลยีที่ช่วยพลิกภาคการเกษตรไทยสู่เกษตร 4.0 ยืนยันความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาด้านเกษตรร่วมกับ FAO โดยการพัฒนาตามแนวคิด Hand in Hand Initiatives

     นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบจาก นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นหัวหน้าคณะให้การต้อนรับพร้อมหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับนายฉู ตงหยู (Mr. Qu Dongyu) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งเดินทางมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 17-18 ก.พ. 63 ว่า จากการหารือร่วมกันทาง FAO ได้นำเสนอแนวคิดการจับคู่เพื่อการพัฒนา ( Hand in Hand Initiatives ) ว่าเป็นแนวทางการจับคู่การพัฒนาระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด โดยเชิญชวนให้ประเทศไทยให้การสนับสนุนกองทุนเพื่อการพัฒนาด้านอาหารและเกษตรในภูมิภาคเอเชีย และขอรับการสนับสนุนโครงการความร่วมมือในแนวคิด Hand in Hand Initiatives

     ในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียนมีศักยภาพที่จะเผยแพร่องค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการเกษตรแก่ประเทศกลุ่ม CLMV พร้อมกันนี้ยังได้แสดงความจำนงสนับสนุนประเทศไทยให้เป็น Region of Hub หรือศูนย์กลางในการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและวิวัฒนาการเกษตร ให้กับประเทศในเอเชียที่ด้อยพัฒนาซึ่งไม่มีทางออกทะเล อาทิ สปป.ลาว อัฟกานิสถาน เป็นต้น โดยเชื่อมั่นว่าไทยจะเป็น HUB ระดับภูมิภาคโดยใช้หลักการ Hand in hand initiatives

     ในการนี้ นายอลงกรณ์ฯ ยังได้นำเสนอนโยบายการปฏิรูปการเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ ตามนโยบายการพัฒนาและช่วยเหลือเกษตรกร ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตามนโยบายรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีฯ อาทิ นโยบายการตลาดนำการผลิต การพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตร (Big data) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมและภูมิปัญญาในการพัฒนาสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเกษตรให้ปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมทั้ง การใช้เทคโนโลยีในภาคการเกษตร เช่น Agri-map Digital Agriculture, E – Commerce โดยล่าสุดกระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมกับบริษัท Lazada จัดทำ platform เพื่อให้ smart farmer สามารถขายสินค้า online ได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตร 77 จังหวัดภายในปี 2563 และยินดีหาก FAO จะมีความร่วมมือกับไทยผ่านโครงการต่างๆ ต่อไป

        ภายหลังการรับฟังข้อมูล ผู้อำนวยการใหญ่ FAO ได้กล่าวชื่นชมว่าเป็นนโยบายที่ดีที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้เข้าถึงตลาด และพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ฯ ยังได้กล่าวขอบคุณ FAO ถึงความร่วมมือในหลายประเด็น โดยเฉพาะการสนับสนุนกิจกรรมวันดินโลก ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ ๕ ธค. ของทุกปี ด้วยการมอบรางวัล King Bhumibol World Soil Day Awardซึ่งถือเป็นการเชิดชูพระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรดินของในหลวงรัชกาลที่ ๙

      สำหรับในวันที่ 18 กพ. นายอลงกรณ์ พร้อมด้วย นายพิศาล พงศาพิชย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชฑูต(ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนไทย ประจำสหประชาชาติ ณ กรุงโรม, ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ประธานอนุกรรมการเกษตรอัจฉริยะ นำคณะ FAO ลงพื้นที่เยี่ยมชมการขับเคลื่อนเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะในโรงเรือนที่ศูนย์เครือข่ายเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของการใช้เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมะเขือเทศภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง ภาครัฐและเอกชน เช่น บริษัท Shanghai Zuoanxiuhul Electronic Technology จำกัด ผู้ผลิตเซนเซอร์ทางการเกษตร เครื่องผสมปุ๋ยสำหรับระบบน้ำหยดแบบอัตโนมัติ และ IoT Platform ด้านการเกษตร ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะในโรงเรือน ในการเปลี่ยนผ่านภาคการเกษตรไทยสู่เกษตร 4.0 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

     “ความร่วมมือกันในการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีเกษตรอัจริยะในโรงเรือนหากมีการขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมชนิดพืชและพื้นที่ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการที่ภาครัฐจะนำข้อมูลมาบริหารจัดการและกำหนดทิศทางนโยบายด้านการเกษตรของประเทศ นอกจากนี้ ภายหลังการเยี่ยมชม ทาง FAO ได้กล่าวชื่นชมต่อความสำเร็จของภาคการเกษตรไทยในการนำเทคโนโลยีดิจิตัลการเกษตรมาใช้ในการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต ผลผลิต และรายได้ของเกษตรกร จนปัจจุบันประเทศไทยได้เป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากจีนเท่านั้น จากการใช้ (IOT platform) ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของภูมิภาค พร้อมกันนี้กระทรวงเกษตรฯ ยินดีสนับสนุนตามนโยบายที่นำเสนอ ซึ่งจะได้มอบหมายให้ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงโรม เป็นผู้ประสานงานต่อไป” นายอลงกรณ์ กล่าว