“ประวิตร” สั่งกองอำนวยการน้ำฯเร่งแก้ปัญหาแล้งเชิงรุก คลุมทุกด้าน “อุปโภค-บริโภค-เกษตร-อุตฯ”

  •  
  •  
  •  
  •  

 

ที่ประชุมกองอำนวยการน้ำฯ เห็นชอบใน 5 มาตรการหลัก การป้องกันก่อนปัญหาขาดแคลนน้ำจะเกิดขึ้น “ประวิตร” นั่งหัวโต๊ะสั่งให้สั่งกองอำนวยการน้ำฯ เร่งมาตรการแก้แล้งเชิงรุก ครอบคลุม น้ำอุปโภค-บริโภค-เกษตร พร้อมให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เร่งดำเนินการ บูรณาการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน ดำเนินการเชิงรุก เพื่อป้องกันบรรเทาความเดือดร้อน และควบคุมสถานการณ์น้ำแล้ง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

       วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 25 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 โดยมีผู้แทนหน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำแล้งและผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาน้ำแล้งของหน่วยงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

      พลเอกประวิตร กล่าวว่า การเดินทางมาเป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาในครั้งนี้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในทุกพื้นที่ของประเทศให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งในด้านการอุปโภคบริโภค ด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ก่อนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้นต้องเร่งรัดการดำเนินงานตามงบประมาณที่แต่ละหน่วยงานได้รับการจัดสรร ให้ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้งได้ทันท่วงที และให้ทุกหน่วยงาน ดำเนินการตามนโยบายนายกรัฐมนตรี บูรณาการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน เร่งดำเนินการในเชิงรุกเพื่อป้องกันบรรเทาความเดือดร้อน และควบคุมสถานการณ์น้ำแล้ง ไม่ให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

     พลเอกประวิตร กล่าวอีกว่า วันนี้ได้ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 (งบกลาง) ระดับพื้นที่ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา แม่ทัพภาคที่ 2 ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก แม่ทัพภาคที่ 3 และความก้าวหน้าการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก กับ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 9  กรมชลประทาน  ได้สั่งการในเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1. การเพิ่มการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากการติดตามการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้มีคุณภาพน้ำที่เหมาะสมสำหรับการอุปโภค บริโภคไปจนถึงปลายเดือนมิถุนายน 2563

      2. การบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกเพื่อไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ จากการประเมินสถานการณ์ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พบว่า มีอ่างเก็บน้ำจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง และอ่างบางพระ จ.ชลบุรี ที่หากไม่มีมาตรการบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจนอาจส่งให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอถึงสิ้นเดือนมิถุนายนได้

      สำหรับการประชุมวันนี้ได้เห็นชอบใน 5 มาตรการหลักพร้อมมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจนในการป้องกันก่อนปัญหาขาดแคลนน้ำจะเกิดขึ้น คือ 1) มอบหมายการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ และ นิคมอุตสาหกรรมปรับลดการใช้น้ำ 10% 2) ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับลดปริมาณการใช้น้ำผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมลดลงในภาคตะวันออก 3) กรมชลประทานประสาน กปภ. และ อีสท์วอเตอร์ จัดหาแหล่งน้ำสำรองจากภาคเอกชน เพื่อให้สามารถใช้น้ำได้ถึงสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 4) ให้กรมชลประทานพิจารณาผันแหล่งน้ำจากข้างเคียงมาเติมอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และ 5) ให้ กปภ.เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างตามแผนงานที่ได้รับสรรงบกลางแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

      ด้านดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของการจัดทำแผนงาน/โครงการเร่งด่วนเพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนปี 2563ที่ประชุมวันนี้ยังได้รับทราบความก้าวหน้าการจัดทำแผนงาน/โครงการเร่งด่วนตามที่ 10 หน่วยงานส่วนกลาง รวมถึงหน่วยงานส่วนท้องถิ่น 69 จังหวัด นำได้เสนอแผนงาน/โครงการเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่าง สทนช.ดำเนินการวิเคราะห์ กลั่นกรอง ตรวจสอบโครงการ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติในหลักการภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทั้งนี้ สทนช. ได้กำหนดจัดงานประชุมชี้แจงและมอบนโยบายการบริหารจัดการภัยแล้งแบบบูรณาการและเตรียมการเก็บน้ำในฤดูฝนปี 2563 ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยเรียนเชิญนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นประธานมอบนโยบายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ แนวทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดเป็นรูปธรรมและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำในฤดูฝน ปี 2563 ควบคู่กันด้วย