“หมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใน EEC”  สู้วิกฤติน้ำขาดแคลนด้วยเทคโนโลยี

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                               ที่มากราฟฟิคจาก : การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

       “คาดการณ์ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นภายใน 20 ปีข้างหน้าในพื้นที่ EEC 3 จังหวัด รวมทั้งข้อมูลศักยภาพของการบำบัดน้ำเสียโดยระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนที่ออกแบบไว้สูงสุด พบว่า ถ้ายังไม่มีการเติบโตแบบ EEC จะมีน้ำเสียชุมชนโดยประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่เมื่อมี EEC สมบูรณ์แบบซึ่งมีการเติบโตของเมืองอย่างเต็มรูปแบบ คาดการณ์ว่า จะมีน้ำเสียชุมชนเพิ่มขึ้นมากกว่า 600 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เมื่อรวมกับน้ำทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม จะทำให้มีปริมาณน้ำเสียรวมมากกว่า 900 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี”

       ภัยแล้งไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ที่จะแก้ได้ด้วยการตั้งรับปัญหาเฉพาะหน้า  แต่ต้องสร้างความตระหนักรู้ให้ทุกคนปรับตัวปรับพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ร่วมด้วยการหาแนวทางที่เหมาะสมในการเพิ่มปริมาณน้ำให้เพียงพอต่อความจำเป็นที่ต้องใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ  นักวิจัยภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ เร่งทำการศึกษาแนวทางการนำน้ำใช้แล้วหรือน้ำเสียที่ผ่านมาบำบัดกลับมาใช้ใหม่โดยการรีไซเคิลน้ำให้มีคุณภาพดีเหมาะสมกับกิจกรรมที่จะนำไปใช้ โดยนำร่องศึกษาในพื้นที่ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี (EEC) ที่ย่อมาจาก Eastern Economic Corridor ซึ่งมีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ   คาดว่าผลการศึกษานี้จะช่วยสร้างรูปธรรมและเป็นแนวทางเพิ่มเติมสำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อื่น ๆ ได้

                                                      รศ.ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล

        รศ.ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมการบำบัดของเสียและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย  ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและเมืองโดยการใช้น้ำเสียที่บำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่ EEC” ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ  ให้ข้อมูลว่า ปัญหาน้ำขาดแคลนในพื้นที่ EEC ส่วนใหญ่มาจากสาเหตุ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และการขยายตัวของเมือง อุตสาหกรรม เกษตรกรรม อย่างมากและรวดเร็ว  ปัญหาน้ำขาดแคลน มีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำสำหรับชุมชน จากภาวะแล้ง ผลกระทบของโลกร้อนต่อแหล่งน้ำ คุณภาพน้ำมีการปนเปื้อน ไม่ถูกสุขอนามัย และมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมต่อการบริโภคและอุปโภค เกิดสงครามแย่งน้ำจากภาคชุมชน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การประปาและชลประทาน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ

       สำหรับพื้นที่ EEC ครอบคลุมจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีทั้งภาคชุมชน เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม และคาดการณ์ว่า ในอนาคตเมื่อการพัฒนาพื้นที่ EEC สมบูรณ์แบบตามแผนงานของรัฐบาล จะขาดแคลนน้ำไม่น้อยกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี การศึกษานี้จึงหาแนวทางที่จะเพิ่มปริมาณน้ำให้เพียงพอต่อการความต้องการใช้ทั้งภาคชุมชน เกษตร และอุตสาหกรรม

      จากการรวบรวมข้อมูล การหาแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่ EEC ชัดเจนว่า การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทำได้ยากขึ้นเพราะมีผลกระทบกับชุมชนและชุมชนมักไม่เห็นด้วย  อีกทั้งแม้มีอ่างเก็บน้ำแต่ในภาวะแล้งที่ยาวนานก็ทำให้เก็บน้ำได้ไม่เพียงพอกับความต้องการอยู่ดี จึงต้องหาทางเลือกแหล่งน้ำต้นทุนอื่น ๆ ด้วย  อาทิ การนำน้ำทะเลมาทำน้ำจืด ซึ่งทำได้แต่มีต้นทุนสูงและราคาแพง

      ดังนั้นเมื่อพิจารณาแหล่งน้ำต้นทุนอื่น ๆ ที่เป็นไปได้คือ “น้ำเสียที่บำบัดแล้ว” ซึ่งมีความเป็นไปได้และราคาถูกลงมาก  โดยในพื้นที่ EEC มีน้ำเสียปริมาณมาก ที่มาจากน้ำเสียชุมชน คือ น้ำเสียจากระบบบำบัดของชุมชน(เทศบาล/อบต.) อีกส่วนจากน้ำเสียจากสถานประกอบการ สถานบริการ และอุตสาหกรรม

       จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นภายใน 20 ปีข้างหน้าในพื้นที่ EEC 3 จังหวัด รวมทั้งข้อมูลศักยภาพของการบำบัดน้ำเสียโดยระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนที่ออกแบบไว้สูงสุด พบว่า ถ้ายังไม่มีการเติบโตแบบ EEC จะมีน้ำเสียชุมชนโดยประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่เมื่อมี EEC สมบูรณ์แบบซึ่งมีการเติบโตของเมืองอย่างเต็มรูปแบบ คาดการณ์ว่า จะมีน้ำเสียชุมชนเพิ่มขึ้นมากกว่า 600 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เมื่อรวมกับน้ำทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม จะทำให้มีปริมาณน้ำเสียรวมมากกว่า 900 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี 

        นั่นแปลว่ามีน้ำเสียปริมาณมาก เป็นต้นทุนน้ำเสีย จึงมีศักยภาพจะเอามาใช้ประโยชน์ชดเชยความต้องการใช้น้ำของพื้นที่ได้   ในปัจจุบันระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนที่มีปริมาณน้ำเสียเข้าสู่ระบบมากกว่า 75% ของความสามารถในการรองรับน้ำเสียในพื้นที่ EEC ได้แก่ระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา (ซอยวัดหนองใหญ่)และระบบบำบัดน้ำเสียเทศบาลเมืองแสนสุข (แสนสุขใต้) จังหวัดชลบุรี

     สำหรับโครงการศึกษา ซึ่งการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและเมือง EEC โดยใช้น้ำเสียกลับมาใช้ใหม่โดยภาพรวม มุ่งศึกษาในเชิงนโยบายโดยหาตัวเลขน้ำเสียต้นทุนที่ชัดเจนและแหล่งต้นทุนของน้ำเสียที่มีศักยภาพ  จากนั้นจึงพัฒนาระบบการรีไซเคิลน้ำเสียจากระบบบำบัดให้มีคุณภาพได้มาตรฐานเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์แทนการทิ้งลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และทดแทนความต้องการใช้น้ำของพื้นที่ EEC ในอนาคต

        การศึกษานี้จะจัดทำร่างระดับคุณภาพมาตรฐานของน้ำรีไซเคิลที่จะนำกลับไปใช้ในกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่าจะต้องมีลักษณะอย่างไร สำหรับเป็นแนวทางให้พื้นที่เมืองและอุตสาหกรรมใน EEC เช่น การนำไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม (พื้นที่สีเขียว) การใช้ชำระชะล้างต่าง ๆ ล้างถนน ลดฝุ่น หรือนำมาเป็นน้ำใช้อื่น ๆ เช่น น้ำหล่อเย็นในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแนวทางที่เป็นมาตรฐานที่ชัดเจนในส่วนนี้

        รศ.ดร.ชวลิต กล่าวอีกว่า น้ำเสียที่เกิดขึ้นในทุกวันนั้น หากมีปริมาณที่มากพอก็สามารถบำบัดและปรับสภาพน้ำเพื่อนำมารีไซเคิลกลับมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ดังตัวอย่างในหลายประเทศ ประเทศที่ถือเป็นต้นแบบ อาทิ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์(สามารถนำน้ำเสียชุมชนมารีไซเคิลทำเป็นน้ำประปาดื่มได้) แต่ทั้งนี้ต้องสร้างมาตรฐานให้เกิดการยอมรับ  อย่างไรก็ตามการจะดึงน้ำเสียที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ยังต้องพิจารณาถึงข้อกำหนด กฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นกฎหมายเฉพาะ เช่นภาคอุตสาหกรรม สถานประกอบการ สถานบริการ เป็นต้น จึงต้องพิจารณาถึงการลดข้อจำกัด ความซ้ำซ้อนและมาตรการเศรษฐศาสตร์ที่ช่วยสร้างแรงจูงใจในการดำเนินการได้

       ตัวอย่างการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ของต่างประเทศ เช่นที่เมืองฟุกุโอกะของญี่ปุ่น เดิมมีการนำน้ำทะเลมาทำเป็นน้ำจืดแต่ต้นทุนสูง สุดท้ายก็เอาน้ำเสียของเมืองมาบำบัดและกรองมาเป็นน้ำประปาเกรด 2 ที่มีคุณภาพดีและขายราคาถูกกว่าน้ำประปา

       กรณีตัวอย่างประเทศสิงคโปร์  มีทั้งการนำน้ำทะเลมาทำน้ำจืดและการซื้อน้ำจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนสูง ปัจจุบันสิงคโปร์เตรียมพร้อมและสนใจเรื่องรีไซเคิลน้ำมาก โดยนำน้ำเสียมารีไซเคิลซึ่งทำให้ต้นทุนถูกลงกว่าการใช้น้ำจืดที่ผลิตจากน้ำทะเล    และใช้เทคโนโลยีในการกรองทำให้ได้น้ำคุณภาพดีที่สะอาดมาก ๆ กลับมาใช้ มีการให้ความรู้กับประชาชน ได้รับการยอมรับจากประชาชนเป็นอย่างดี  น้ำรีไซเคิลที่ได้มีคุณภาพน้ำดีกว่าน้ำประปา มีการเดินระบบท่อจ่ายน้ำประปาผลิตจากน้ำรีไซเคิลนำมาใช้กับภาคอุตสาหกรรมและชุมชน  และยังส่งกลับไปขายให้กับมาเลเซียอีกด้วย

      เช่นเดียวกันกับประเทศจีน มีการลงทุนสร้างโรงงานรีไซเคิลน้ำจากการบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่  50,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันที่เมืองเทียนสิน โดยรับน้ำทิ้งจากโรงบำบัดน้ำเสีย Jizhuangzi และเดินระบบท่อจ่ายน้ำรีไซเคิลความยาว 52 กิโลเมตรไปยังชุมชน ซึ่งน้ำรีไซเคิลนี้สามารถจ่ายน้ำให้กับชุมชน 158,000 ครัวเรือน และการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่นใช้เป็นน้ำหล่อเย็น เป็นต้น  ราคาค่าน้ำรีไซเคิลอยู่ที่ 0.3 US dollar ต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถูกกว่าราคาค่าน้ำประปาอีก

      ประเทศไทยอาจใช้ต้นแบบของญี่ปุ่นและจีนได้ คือ การรีไซเคิลน้ำเสียมาเป็นน้ำประปาเกรด 2 ขายให้กับแหล่งที่ต้องการซื้อได้เลย ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งก็สนใจ  และส่วนบำบัดน้ำเสียส่วนกลางของเทศบาลบางแห่ง ก็อยู่ไม่ไกลจากนิคมอุตสาหกรรมก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำและเอากลับไปขายให้อุตสาหกรรม ชุมชน  และภาคเกษตรก็ได้  แต่ทั้งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องปลดล็อคกฎหมายหลายส่วนที่ยังเป็นข้อจำกัดในปัจจุบัน

     เพราะ“น้ำทุกหยด”ควรมีประโยชน์มากกว่าหนึ่งอย่าง ซึ่งเทคโนโลยีจะช่วยตอบโจทย์มาตรฐานคุณภาพน้ำที่รีไซเคิลให้หมุนเวียนกลับมาใช้ซ้ำจึงจะมีน้ำใช้อย่างยั่งยืน  และช่วยเสริมศักยภาพ EEC ให้เป็นเมืองเศรษฐกิจแห่งความหวังของประเทศได้

ที่มา :   ฝ่ายสื่อสาร แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ