ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ภายใน 6 เดือนไม่มีทางที่จะผลิตวัคซีนรักษาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019ได้ คาดอีก 1 จีนน่าจะสามารถผลิตได้ ขณะที่ไทยไม่มีผู้เชี่ยวชาญในการผลิตวัคซีนด้านนี้ ต้องรักษาตามอาการและการวินิจฉัยโรค
วันที่ 29 มกราคม 2562 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมธีวิจัยอาวุโส สกสว. กล่าวถึงจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 และได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ในสถานการณ์นี้เราต้องเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ในแง่ของการเสริมสร้างองค์ความรู้ มีการจัดการความรู้ (Knowledge Management) นักวิจัยต้องเกิดการผนึกกำลัง มีการบูรณาการของงานวิจัยในทุกศาสตร์มาช่วยแก้ปัญหา ยกตัวอย่างเช่น นำนักคณิตศาสตร์มาวิจัยการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส นำนักเคมีมาวิจัยโครงสร้างของเชื้อไวรัส นักฟิสิกส์มาวิจัยเรื่องไบโอฟิสิกส์ นักสังคมศาสตร์มาวิจัยว่าเชื้อไวรัสส่งผลกระทบทางสังคมอย่างไร
ส่วนนักสื่อสารมวลชนก็ทำการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัส ทางด้านการแพทย์ก็วิจัยถอดรหัสพันธุกรรม ศึกษาว่ามีการกลายพันธุ์หรือไม่ และทางเภสัชศาสตร์ก็มาช่วยในการผลิตยา ดูว่าสามารถใช้ยาอะไรในการรักษาได้บ้าง
“การเตรียมความพร้อมและรับมือของเชื้อไวรัสในตอนนี้คือ เราจะทำอย่างไรให้ชะลอเชื้อไวรัสให้ช้าที่สุด สามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ เนื่องจากไม่อยากเห็นว่าประชาชนมีความตระหนกแตกตื่น และแห่ไปตรวจที่โรงพยาบาล หรือต้องไปสร้างโรงพยาบาลสนาม” ศ.นพ.ยง กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ในเรื่องของการความเป็นไปได้ในการผลิตวัคซีนนั้น ศ.นพ.ยง บอกว่า ในระยะเวลา 6 เดือนไม่มีทางที่จะผลิตวัคซีนรักษาได้ โดยการผลิตวัคซีนต้องใช้เวลาเป็นปี ทางประเทศไทยไม่มีกำลังคนและผู้เชี่ยวชาญในการผลิตวัคซีนด้านนี้ แต่คาดว่าทางจีนน่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้ภายใน 1 ปี ซึ่งตอนนี้ที่ไทยทำได้ดีที่สุด คือรักษาตามอาการและการวินิจฉัยโรค ตลอดจนพัฒนาวิธีการตรวจให้รวดเร็วและถูกต้องที่สุด