สภาเกษตรกรฯสะท้อน ปัญหา “ที่ดินทำกิน” ที่ยึดเยื้อมายาวนานและลอดชีวิตเกษตรกร ถึงเวลาที่จะต้องได้รับการแก้ปัญหา ตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562 ชี้ที่ภาครัฐจัดการบริหารและแก้ไขให้ตรงจุด ทำให้เกษตรกรไม่มีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน ในพื้นที่ชนบทห่างไกล และการบริการของภาครัฐเข้าไม่ถึง ที่เลวร้ายเกษตรกรถูกจับกุมนับแสนราย ทั้งมีเจตนาเพียงแค่ประกอบการยังชีพ ไม่มีเจตนาบุกรุกหรือเข้าไปทำลายทรัพย์สินทางราชการแต่อย่างใด
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ทุกวันนี้ปัญหาที่หนักใจของพี่น้องเกษตรกร ที่ยืดเยื้อมายาวนาน และเป็นปัญหามาตลอดชีวิตของเกษตรกร ที่สภาเกษตรกรฯสะท้อนขึ้นมาเพื่อให้ภาครัฐจัดการบริหารและแก้ไขให้ตรงจุดมากที่สุดคือที่ดินทำกิน ที่เกษตรกรไม่มีความมั่นคงในการถือครอง ในพื้นที่ชนบทห่างไกล และการบริการของภาครัฐเข้าไม่ถึง ด้วยอ้างเหตุผลว่าขาดงบประมาณ และขาดกำลังพล ผลพวงของนโยบายต่างๆของรัฐจึงไปไม่ถึงเกษตรกร ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์
ดังนั้นโครงการความช่วยเหลือต่างๆจากภาครัฐมักประกาศว่าที่ดินต้องมีเอกสารสิทธิ์ การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ดูถึงข้อเท็จจริงว่า เกษตรกรมีเจตนาเพียงแค่ประกอบการยังชีพ ไม่ได้มีเจตนาบุกรุกหรือเข้าไปทำลายทรัพย์สิน ซึ่งแต่ละรายมีพื้นที่ทำกินประมาณ คนละ 5-20 ไร่เท่านั้น ซึ่งรัฐควรผ่อนปรนและละเว้นบ้าง
นายประประพัฒน์ กล่าวอีกว่า การบริหารจัดการที่ดิน และทรัพยากรดินของประเทศไทยนั้นปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับมาก แต่ไม่เป็นเอกภาพและไม่มีกรอบแนวทางในการกำหนดแนวทางการพัฒนา ภารกิจ รวมถึงการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หากไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ยังคงอยู่ และจะลุกลามรุนแรงต่อไปและมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งการประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติครั้งที่ 7/2562 ณ ห้องบุหลันพิทักษ์พล อาคารสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กทม. ในการประชุมได้มีการบรรยาย “ความรู้กฎหมายและนโยบายที่ดินที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่ดินแห่งชาติ”โดย ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ ผู้ประสานงานการศึกษานโยบายที่ดิน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) ทำให้ทราบว่า ภายใต้พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562 คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จะทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง โดยการบูรณาการการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และภูมิสังคม ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม ยั่งยืน และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้
ผศ.อิทธิพล กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จะคอยบูรณาการงานต่างๆที่เกี่ยวกับที่ดินทั้งหมดไว้ในที่เดียวกัน การที่มีทิศทางแน่นอนมันจะทำให้ในอนาคตการบริหารจัดการที่ดินของประเทศเป็นไปในรูปแบบเดียวกัน มีทิศทางแน่นอน มีเป้าหมายเดียวกัน ทั้งนี้ ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยใช้ที่ดินควรต้องได้รับการแก้ไขปัญหา ปัญหาที่มีอยู่ถ้าส่งผ่านไปที่ คทช.ก็จะเป็นกลไกหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้
ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์
“ คนส่วนใหญ่ของประเทศทั่วทุกจังหวัด เดือดร้อนสามารถส่งปัญหาให้กับสภาเกษตรกรฯสะท้อนปัญหาขึ้นมาให้ภาครัฐ อย่างน้อยที่สุดก็จะมีทิศทางตอบสนองต่อปัญหา แทนที่จะให้ คทช.พิจารณาไปโดยไม่มีฐานข้อมูล ไม่มีจุดร่วมของการตัดสินใจ ถ้าระบุปัญหาชัดเจนและไม่เข้าข้างตัวเองก็จะเป็นเรื่องที่ คทช.พิจารณาแก้ไขปัญหาในภาพรวมกับสาธารณะ เพราะนอกจากแก้ไขปัญหาให้ภาคเกษตรกรแล้วภาคส่วนอื่นความต้องการเหล่านี้จะต้องเป็นที่ยอมรับได้ด้วย ” ผศ.อิทธิพล กล่าว