กรมชลฯปรับแผนสกัดน้ำเค็มทะลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา

  •  
  •  
  •  
  •  


กรมชลประทาน ปรับแผนทำการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก เพื่อควบคุมค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
จากเดิมไม่เกินวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. มาเป็น 25.50 ล้าน ลบ.ม. จนถึง 5 ม.ค.63 พร้อมสั่งการให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งขอความร่วมมือเกษตรกรงดการสูบน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ในระหว่างวันจันทร์-วันศุกร์ เพื่อให้น้ำจากพื้นที่ตอนบนไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค และการผลิตน้ำประปาก่อน 

       วันที่ 30 ธันวาคม 2562  นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง ปี 62/63 กรมชลประทาน เพื่อติตตามสถานการณ์ภัยแล้งและการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่างๆ

                                            สัญญา แสงพุ่มพงษ์

     นายสัญญา กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน ปริมาณน้ำที่รับเพิ่มจากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ที่ประตูระบายน้ำมโนรมย์ ตั้งแต่ช่วงสายของวันที่ 27 ธันวาคม ที่ผ่านมา ขณะนี้ปริมาณน้ำดังกล่าวเดินทางถึงอำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี บริเวณที่ตั้งสถานีสูบน้ำการประปาภูมิภาค สาขาลพบุรี เมื่อเวลาประมาณ 07.30 น. ของวันนี้ (30 ธ.ค.62) ซึ่งการประปาฯ สามารถสูบน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาจ่ายเข้าระบบให้บริการแก่ประชาชนในเขตจังหวัดลพบุรี ได้ตามปกติตั้งแต่เวลา 08.30 น. ที่ผ่านมา

       สำหรับการบริหารและจัดการน้ำ เพื่อควบคุมค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น สถานการณ์น้ำปัจจุบันบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก จากเดิมไม่เกินวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. ปรับเป็น 25.50 ล้าน ลบ.ม. ระหว่างวันที่ 23 ธ.ค.62 ถึง 5 ม.ค.63 และควบคุมอัตราการไหลของน้ำผ่านที่สถานี C.29A ให้อยู่ระหว่าง 90 -100 ลบ.ม./วินาที ควบคุมการระบายน้ำจากประตูระบายน้ำโพธิ์พระยาประมาณ 5 -10 ลบ.ม./วินาที
ในส่วนของลุ่มน้ำแม่กลอง – ท่าจีน ดำเนินการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองลงแม่น้ำท่าจีนผ่านคลองจระเข้สามพัน ออกทาง ประตูระบายน้ำสองพี่น้อง ในอัตรา 35 ลบ.ม./วินาที
  นอกจากนี้ไ้ทำการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองลงแม่น้ำท่าจีนผ่านคลองท่าสาร–บางปลา ออกทาง ประตูระบายน้ำบางปลา ในอัตรา 35 ลบ.ม./วินาที

     ส่วนลุ่มน้ำท่าจีน – เจ้าพระยา สำการผันน้ำจากแม่น้ำท่าจีนลงแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านคลองพระยาบรรลือ ในอัตรา 30 ลบ.ม./วินาที พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมที่ประตูระบายน้ำพระยาบรรลือ จำนวน 6 เครื่อง และสถานีสูบน้ำสิงหนาทอีก จำนวน 4 เครื่อง พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ กลางคลองพระยาบรรลือ และติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพน้ำแบบเคลื่อนที่ จำนวน 2 จุด ที่แม่น้ำท่าจีนช่วงระหว่างคลองจินดาและคลองภาษีเจริญ

      ด้านความช่วยเหลือ กรมชลประทานดำเนินการสูบผันน้ำเพื่อผลักดันความเค็มที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล โดยที่ประตูระบายน้ำพระยาบรรลือ ทำการเดินเครื่องสูบน้ำจำนวน 11 เครื่อง สูบได้ปริมาณน้ำประมาณ 33 ลบ.ม./วินาที ที่ประตูระบายน้ำสิงหนาท 2 เดินเครื่องสูบน้ำจำนวน 6 เครื่อง สูบได้ปริมาณน้ำประมาณ 18 ลบ.ม./วินาที พร้อมทั้งเดินเครื่องผลักดันน้ำบริเวณ แล้วจำนวน 12 เครื่อง

        ทั้งนี้ กรมชลประทาน สั่งการให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งขอความร่วมมือเกษตรกรงดการสูบน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ในระหว่างวันจันทร์-วันศุกร์ เพื่อให้น้ำจากพื้นที่ตอนบนไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค และการผลิตน้ำประปา  หากเกษตรกรบางพื้นที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ให้สามารถสูบในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ และสูบน้ำเฉพาะที่จำเป็น เพื่อหล่อเลี้ยงสวน ไม้ผล ไม่ตระหนก กักตุนน้ำ เนื่องจากอาจเกิดการขาดแคลนน้ำได้ ทั้งนี้ขอความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ชลประทาน มั่นใจว่าสามารถผ่านวิกฤติแล้งไปได้