สทนช. เล็งชงครม.ดันกว่า 2,000 โครงการ…ลุยแก้แล้งเร่งด่วน

  •  
  •  
  •  
  •  

สทนช. เตรียมชง ครม.ของบฯ 2,625 ล้าน ดันกว่า 2,000 โครงการแก้แล้งเร่งด่วนปี 2563 หวังป้องขาดน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำใช้ในโรงพยาบาล  พร้อมเชื่อมโยงศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจกับศูนย์บรรเทาภัยของหน่วยเกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์แก้ไขภัยแล้งใกล้ชิด

      ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมส่งเสริมการเกษตร ฯลฯ เพื่อติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำปัจจุบัน พื้นที่การเพาะปลูกข้าว การติดตามแผนและผลการบริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยที่มีความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบได้ในอนาคต เช่น ลุ่มเจ้าพระยา ภาคตะวันออก และจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น ที่จะมีการวางกรอบแนวทางมาตรการเฉพาะพื้นที่เป็นระยะ ๆ การดำเนินการป้องกันภัยแล้งของหน่วยงานต่าง ๆ

         โดยเฉพาะแผนปฏิบัติการรองรับการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค สถานพยาบาล น้ำเพื่อการเกษตรไม้ผล ตามลำดับ รวมถึงป้องกันผลกระทบเรื่องคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก โดยมีเป้าหมายเพื่อบูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยให้เกิดผลทางปฏิบัติ ให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดตามข้อสั่งการและข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ทั้งนี้ ภายหลังการหารือกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบคาดการณ์ตั้งแต่ ม.ค. 63 – พ.ค. 63 เกือบทุกภาคของประเทศไทยจะมีปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติ 5-10% ประกอบกับสภาพอากาศหนาวเย็นและความชื้นต่ำ ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นจะต้องเตรียมแผนการรองรับไปจนถึง มิ.ย. 63 หรือต้นฤดูฝนหน้า เพื่อป้องกันให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

      สำหรับแผนงานโครงการในการดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ระยะเร่งด่วนในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคเป็นหลัก ตามที่ทุกหน่วยงานได้ทำการสำรวจความพร้อมในการดำเนินการได้ทันที แบ่งเป็นสองส่วน คือ 1.การดำเนินการโดยใช้งบปกติของหน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 1,333 โครงการ วงเงิน 2,918 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการนอกเขตการประปา จำนวน 1,160 โครงการ วงเงิน 2,265 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ด้านประปาหมู่บ้าน 528 โครงการ ดำเนินการโดย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) วงเงิน 1,267 ล้านบาท ได้แก่ 1.1) โครงการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน 301 โครงการ 844 ล้านบาท 1.2) โครงการขยายเขตประปาหมู่บ้าน 40 โครงการ 98 ล้านบาท 1.3) โครงการปรับปรุงซ่อมแซมระบบประปา 187 โครงการ 325 ล้านบาท 2) ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ได้แก่ โครงการก่อสร้าง/ปรับปรุงแหล่งน้ำ 431 โครงการ 928 ล้านบาท 3) โครงการก่อสร้าง/ปรับปรุงระบบธนาคารน้ำใต้ดิน 201 โครงการ 70 ล้านบาท และ โครงการในเขตการประปาส่วนภูมิภาค ดำเนินการโดย การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) รวม 173 โครงการ วงเงิน 653 ล้านบาท

       2.ขอรับการสนับสนุนงบกลางเพิ่มเติม รวม 2,008 โครงการ วงเงิน 2,625 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการนอกเขตการประปา จำนวน 1,962 โครงการ วงเงิน 1,888 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ด้านอุปโภคบริโภค 1,955 โครงการ วงเงิน 1,864 ล้านบาท ได้แก่ 1.1) โครงการขุดเจาะบ่อบาดาล รวม 1,053 โครงการ วงเงิน 1,245 ล้านบาท ดำเนินการโดย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) 187 โครงการ 221 ล้านบาท กองทัพบก 155 โครงการ 183 ล้านบาท กรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) 711 โครงการ 841 ล้านบาท 1.2) โครงการจัดหาแหล่งน้ำผิวดิน โดย สถ. 232 โครงการ วงเงิน 147 ล้านบาท 1.3) โครงการซ่อมแซมระบบประปา โดย สถ. 670 โครงการ วงเงิน 472 ล้านบาท 2) ด้านการช่วยเหลือโรงพยาบาล 7 โครงการ วงเงิน 23.8 ล้านบาท แบ่งเป็น 2.1) โครงการขุดเจาะบ่อบาดาล โดย นทพ. 3 โครงการ 0.8 ล้านบาท 2.2) โครงการซ่อมแซมระบบประปา โดย สถ. 4 โครงการ 23 ล้านบาท และ โครงการในเขตการประปาส่วนภูมิภาค ด้านอุปโภคบริโภค ดำเนินการโดย กปภ. รวม 46 โครงการ วงเงิน 737 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการทบทวนเพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนกรณีงบประมาณมีความซ้ำซ้อนอีกครั้ง ก่อน สทนช. จะรวบรวมแผนงานโครงการงบเสนอผ่านสำนักงบประมาณให้ความเห็น แล้วจึงเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงต้นเดือน ม.ค. 63 เพื่ออนุมัติงบกลางในการดำเนินการต่อไป

      นอกจากการเตรียมแผนงานโครงการเพื่อดำเนินการในเชิงป้องกันพื้นที่เสี่ยงได้รับผลผกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งแล้ว สทนช. ยังได้ใช้ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจเป็นศูนย์กลางในการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและประเมินผล แก้ไขปัญหา ในเชิงนโยบาย รวมทั้งปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเชื่อมโยงข้อมูลในเชิงพื้นที่กับศูนย์บรรเทาภัยของหน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง กระทรวงมหาดไทย ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร/ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศูนย์เมขลา/ศูนย์นาคราช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

        “สทนช. ได้มุ่งบูรณาการการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่และเต็มกำลัง เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำท่ามกลางสภาวะน้ำต้นทุนเหลือน้อย อย่างไรก็ตาม ต้องขอรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนร่วมมือร่วมใจกันประหยัดน้ำ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ไม่ให้เกิดการเสียเปล่า เพราะความร่วมมือจากทุกภาคส่วนคือหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติแล้งไปได้”เลขาธิการ สทนช. กล่าว