สแกนสถานการณ์ทั่วไทย พบหลายเขื่อนวิกฤตหนักไว้อุปโภค บริโภค-รักษาระบบนิเวศเท่านั้น

  •  
  •  
  •  
  •  

สแกนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ พบอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศหลายแห่ง มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย โดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ใช้ได้จริงเพียง 5,379 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่หลายสิบเขื่อน มีน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ลำพระเพลิงหนักสุดมีน้ำแค่ 21 %ของความจุอ่างฯ กรมชลประทาน งัดแผนเข้มบริหารจัดการน้ำ พร้อมขอความร่วมมือร่วมใจทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด

    ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำรวมกันประมาณ 12,075 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,379 ล้าน ลบ.ม. สามารถสนับสนุนได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และไม้ผลไม้ยืนต้น เท่านั้น

     สำหรับพื้นที่ด้านท้ายของอ่างเก็บน้ำอื่นๆ ที่สนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย อาทิ เขื่อนแม่มอก จังหวัดลำปาง มีปริมาณน้ำเก็บกัก 39 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้ได้ 23 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำเก็บกัก 529 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 11 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 51 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 14 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำเก็บกัก 32 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 21 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 31 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนมูลบน จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำเก็บกัก 52 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 37 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 45 ล้าน ลบ.ม. , และเขื่อนลำแซะ จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำเก็บกัก 100 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 93 ล้าน ลบ.ม.

     ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อย แต่ยังพอที่จะสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย(พืชไร่-พืชผักและพืชอื่นๆ) ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน ได้แก่ เขื่อนแม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 71 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 27 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 57 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี มีปริมาณน้ำเก็บกัก 75 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 69 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำเก็บกัก 176 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 153 ล้าน ลบ.ม. ,


      เขื่อนลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 25 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 21 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 22 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี มีปริมาณน้ำเก็บกัก 78 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 38 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา มีปริมาณน้ำเก็บกัก 145 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 115 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนประแสร์ จังหวัดระยอง มีปริมาณน้ำเก็บกัก 147 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างเป็นน้ำใช้การได้ 127 ล้าน ลบ.ม.

      กรมชลประทาน จะดำเนินการจัดทำแผนการจัดสรรน้ำ การจัดหาแหล่งน้ำสำรอง และการวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด พร้อมสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนให้มากที่สุด จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า