สมาชิกแม่โขง-ล้านช้างถกจัดการทรัพยากรน้ำก่อนแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศ ธ.ค.นี้

  •  
  •  
  •  
  •  

6 ชาติร่วมถกแผนจัดการน้ำภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง สทนช.เตรียมเสนอผลประชุมเข้า ครม.เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีด้านน้ำที่จีนต้นธันวาคมนี้ เล็งชงโปรโจคงานวิจัยหาเหตุโขงลดภายใต้แผนปฏิบัติการ 5 ปี พร้อมยันเดินหน้าแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุทกวิทยากับจีน-ลาวต่อเนื่อง

            ดร.สมเกียรติ  ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำสมัยวิสามัญ ครั้งที่ 3 ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation : MLC) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจาก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และจีน ณ นครกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า คณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำ (Joint Working Group on Water Resource Management) เป็นหนึ่งในคณะทำงาน 6 สาขาภายใต้ MLC โดยกรอบความร่วมมือดังกล่าว มีความสำคัญต่อประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอย่างมาก

          ในฐานะที่เป็นเวทีในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงสามารถพบปะหารือกับประเทศต้นน้ำ คือ จีน ในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือด้านน้ำทั้งในด้านเทคนิคและนโยบาย โดยสาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ เพื่อร่วมหารือใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การเตรียมการจัดประชุมหารือโต๊ะกลมสำหรับระดับรัฐมนตรีด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ (MLC) ครั้งที่ 1 ช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ ณ กรุงปังกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน  2.การพิจารณาถ้อยแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศให้เป็นรูปธรรมขึ้น ซึ่ง สทนช.จะสรุปผลการประชุมในครั้งนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา ให้ความเห็นชอบมอบหมายรัฐมนตรีด้านน้ำของไทยเข้าร่วมประชุม 6 รัฐมนตรีด้านน้ำภายใต้กรอบความร่วมมือน้ำแม่โขงและล้านช้างที่ประเทศจีน

           และ 3.ที่ประชุมได้มีการพิจารณาลำดับความสำคัญของกิจกรรมโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการ 5 ปี สาขาทรัพยากรน้ำ ซึ่งฝ่ายไทยได้นำเสนอโครงการที่จะดำเนินการในปี 2563 อาทิ การวิจัยร่วม เพื่อการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนด้านอุทกภัย และภัยแล้งในพื้นที่แม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก ระหว่างไทยและเมียนมา รวมถึงไทยยังได้ผลักดันที่จะเสนอให้มีการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยร่วมกับประเทศสมาชิก เพื่อหาสาเหตุที่ส่งผลทำให้ระดับน้ำโขงลดลงด้วย

        นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า การประชุมคณะทำงานฯ ภายใต้กรอบ MLC ถือเป็นเวทีที่สำคัญด้านยุทธศาสตร์ และมีความก้าวหน้ามากสำหรับไทยและประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ที่จะได้พบปะหารือกันในประเด็นความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านน้ำในมิติผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างครอบคลุม ซึ่งไทยได้สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของคณะทำงานฯ และการจัดทำแผนปฏิบัติการ 5 ปี โดย สทนช. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักได้มุ่งเน้นผลักดัน ความร่วมมือด้านการบริหารทรัพยากรน้ำผ่านการวิจัย เพื่อหากลไกที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำท่วมและน้ำแล้งในกรณีภัยพิบัติที่รุนแรง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลอุทกวิทยาอย่างทันท่วงที สม่ำเสมอ และครอบคลุมตลอดทั้งปี ผ่านช่องทางการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากสำหรับประเทศท้ายน้ำในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

      ดังนั้นในปี 2560 ไทยได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก MLC เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือข้ามพรมแดนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจากการศึกษานี้ไทยสนับสนุนให้มีการจัดตั้งการจัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญ หรือคณะที่ปรึกษา เพื่อกำหนดกรอบและหลักการในการแบ่งปันข้อมูลน้ำ รวมทั้งขั้นตอนในการแลกเปลี่ยนและการเสริมสร้างศักยภาพให้กับสมาชิก และพัฒนาให้เป็นระดับ Working Committee ต่อไป ซึ่งไทยจะนำเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีในเดือน ธ.ค. นี้ด้วย”ดร.สมเกียรติ กล่าว

       นอกจากนี้ยังได้ใช้โอกาสนี้ประชุมหารือร่วมกับจีน เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์น้ำของจีนและไทยในช่วงฤดูแล้งเพิ่มเติม จากปัจจุบันจีนได้พิจารณาให้ข้อมูลสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนแล้ว เพื่อให้การวิเคราะห์ คาดการณ์สถานการณ์น้ำโขงรวมถึงลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงได้ตลอดทั้งปีทั้งแต่ต้นน้ำจากประเทศจีน อาทิ แผนการระบายน้ำตลอดฤดูแล้ง แนวทางการระบายน้ำเพิ่มหากท้ายน้ำอย่างไทยต้องการน้ำ เป็นต้น พร้อมทั้งได้ขอบคุณจีนที่สนับสนุนให้มีช่องทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำ และทำแผนพัฒนาด้านวิชาการร่วมกันด้วย รวมถึงในต้นสัปดาห์หน้า สทนช.จะร่วมหารือกับลาวเพื่อทำความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำ  รวมถึงแผนบริหารจัดการน้ำโดยตรงเพื่อความรวดเร็ว และป้องกันปัญหาอย่างทันท่วงที 

       ทั้งนี้ สทนช.จะนำเสนอสถานการณ์น้ำโขง ประเด็นปัญหาภาวะภัยแล้งที่เกิดในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้งจีน ลาว และไทย  เข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ  และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อบูรณาการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบกับการประกอบอาชีพของประชาชน และผลกระทบโครงสร้างที่ติดกับลำน้ำโขงฝั่งไทย 8 จังหวัดโดยเร่งด่วนต่อไป