กรมชลฯตรวจแนวรับ แนวรุก เตรียมรับมืออุทกภัยใต้

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมชลฯ ตรวจแนวรับ แนวรุก เตรียมรับมืออุทกภัยใต้ หลังกรมอุตุนิยมวิทยา ได้แจ้งเตือนว่าในปลายเดือนตุลาคม และเดือนพฤศจิกายน 2562 ภาคใต้เสี่ยงที่จะมีฝนตกชุก บางพื้นที่เสี่ยงกับน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้กำจัดสิ่งกีดขวางและขุดลอกกองดินในคลอง ร. 1 ทั้งหมด เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ในอัตรา 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที มั่นใจถ้าฝนสะสมไม่เกิน 400 มิลลิเมตร ติดต่อกัน 3 วัน สามารถบริหารจัดการได้

           นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ สำนักเครื่องจักรกลและกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทานได้เตรียมรับมือฤดูฝนภาคใต้ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนว่า ในปลายเดือนตุลาคม และเดือนพฤศจิกายน 2562 ภาคใต้เสี่ยงที่จะมีฝนตกชุกและบางพื้นที่เสี่ยงกับน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยกรมชลฯได้มีการประชุมและกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 89 จุด 16 จังหวัด รวมทั้งการเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อการช่วยเหลือกรณีเกิดอุทกภัย ซึ่งคาดว่าแนวทางทั้งหมดจะสามารถช่วยเหลือและบรรเทาอุทกภัยให้กับประชาชน

       ทั้งนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจและติดตามความคืบหน้าของแต่ละโครงการก่อสร้างบรรเทาอุทกภัยในภาคใต้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างหลายโครงการ เพื่อให้สามารถเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำได้ โดยเฉพาะโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ฯ (ระยะที่ 2) ซึ่งเป็นการขุดขยายคลอง ร.1 ให้มีศักยภาพการระบายน้ำจากเดิมที่ระบายน้ำได้ในอัตรา 465 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที เป็น 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2563

      นอกจากนี้ได้สั่งการให้สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ให้ดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางและขุดลอกกองดินในคลอง ร. 1 ทั้งหมด เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ในอัตรา 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งหากว่าเกิดฝนในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ติดต่อกัน 3 วัน ปริมาณฝนสะสมไม่เกิน 400 มิลลิเมตร จะสามารถบริหารจัดการได้ และสั่งการให้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำปลายคลอง ร.1 เพื่อช่วยเร่งสูบน้ำออก ลดผลกระทบให้กับราษฎรในพื้นที่

      ส่วนโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ ได้มีการขุดลอกคลอง ขุดขยายคลอง ในเขตพื้นที่โครงการเพื่อช่วยเร่งระบายน้ำจากทะเลสาบสงขลาออกสู่ทะเลฝั่งอ่าวไทยให้เร็วที่สุด โดยคลองศาลาหลวงสามารถระบายน้ำได้อัตรา 30 ลบ.ม.ต่อวินาที คลองโคกทอง- หัวคลอง ซึ่งอยู่ใกล้โรงพยาบาลระโนด ได้มีการก่อสร้างบ็อกคัลเวิร์ท (Box Culvert) 4 แถว สามารถระบายน้ำได้อัตรา 35 ลบ.ม.ต่อวินาที และมีการติดตั้งสะพานเบลีย์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ขณะนี้ทั้ง 2 จุดดำเนินการแล้วเสร็จ ส่วนปตร.ท่าเข็นซึ่งตั้งอยู่ปลายคลองแดนขณะนี้ โครงการเสร็จแล้วสามารถระบายน้ำ 120 ลบ.ม. ต่อวินาที รวมแล้วสามารถช่วยเร่งระบายน้ำจากทะเลสาบสงขลาออกทะเลฝั่งอ่าวไทยได้เพิ่มขึ้นประมาณ 185 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที