“อ.ยักษ์” เปิดงานวันดินโลก จังหวัดอุดรธานี พร้อมใจสืบสานพระราชปณิธานของในหลวง ร.9 เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานวันดินโลก จังหวัดอุดรธานี ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทยคริสตจักรนาเรียง ตำบลตาดทอง อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี ว่า ตามที่สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ได้มีมติทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นพระองค์แรกของโลก เพื่อยกย่องและถวายราชสดุดีพระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์ถึงพระวิสัยทัศน์ และพระราชกรณีกิจเกี่ยวกับการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และในโอกาสเดียวกันผู้บริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ได้ขอพระราชทานให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันดินโลก ต่อมาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญที่ 68 มีมติเมื่อ วันที่ 20 ธันวาคม 2556 รับรองให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) โดยได้มีการบรรจุในปฏิทินปฏิบัติงานขององค์การสหประชาชาติอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา
ดังนั้นในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติกว่า 200 ประเทศ จะจัดงานเฉลิมฉลองวันดินโลกพร้อมกันทุกประเทศ และในประเทศไทย ได้จัดงานวันดินโลกพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อเชิดชูพระเกียรติยศในฐานะที่ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรมด้วย
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอยืนยันเจตนารมณ์จะสืบสาน พระราชปณิธานของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยการน้อมนำพระราชดำรัส ดำเนินตามพระราชกรณียกิจเพื่อรักษาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินและน้ำ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาการเกษตรของไทย และยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้เกิดความมั่นคงในอาชีพและรายได้ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีเกียรติและมีความสุข ตามพระราชปณิธานของพระองค์สืบไป” นายวิวัฒน์ กล่าว
สำหรับการจัดงานวันดินโลก จังหวัดอุดรธานี ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทยคริสตจักรนาเรียง ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย เกษตรกร หมอดินอาสา นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ หน่วยงานภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายต่างๆ ประชาชนทั่วไป ประมาณ 800 คน จะได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาที่ดิน และตระหนักถึงความสำคัญของการที่ต้องร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งช่วยกันเผยแพร่ ขยายผล ตลอดจนนำศาสตร์พระราชาไปปรับใช้กับพื้นที่การเกษตรในท้องถิ่นของตนเองได้อย่างเหมาะสม