“กฤษฎา”ชี้ชัดไม่สามารถซื้อหนี้สินของเกษตรกรได้ทุกราย

  •  
  •  
  •  
  •  

“กฤษฎา” อ้างระเบียบการเงินการคลัง ของธนาคารแห่งประเทศไทย และข้อเสนอแนะจาก สตง.ระบุว่าชัด กฟก. ไม่สามารถเข้าไปซื้อหนี้นอกเกณฑ์ของเกษตรกร ตามที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง ให้กระทรวงเกษตรฯ เจรจากับธนาคารและสหกรณ์ให้ตัดเงินต้นร้อยละ 50 พร้อมดอกเบี้ยทิ้งได้ ระบุผลการตรวจสอบการปฏิบัติตามมติครม. ปี 2553 แล้ว มีกรณีที่ทำไม่ถูกต้อง

           นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ (กฟก.)ที่ตนเป็นประธานหมดระยะเวลาลงแล้ว ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ปฏิบัติงาน 180 วัน โดยให้แก้ไขหนี้สินเกษตรกรอย่างเร่งด่วน อีกทั้งได้เสนอแนวทางการปรับปรุงการบริหารงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) จากที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบการทำงานของกฟก.ในปี 2542-2556 แล้วพบความไม่เหมาะสมหลายประการ โดยเฉพาะในกรณีการไปซื้อหนี้เกษตรกรนอกเกณฑ์ ที่ไม่ตรงเงื่อนไขระเบียบของกฟก. ที่กำหนดว่า เป็นหนี้เกิดการจากภาคเกษตร มูลหนี้ไม่เกิน2.5 ล้านบาทต่อราย รวมทั้งต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้ด้วย

          “การทำงานของกฟก.ชุดเฉพาะกิจที่ผ่านมานั้น ได้เร่งทบทวนจำนวนเกษตรกรสมาชิกของกฟก. พบว่า มีกว่า 6.7 ล้านราย แต่ที่ประสงค์ให้กฟก.แก้ไขปัญหาหนี้สินให้กว่า 4.5 แสนราย มูลหนี้กว่า 8 หมื่นล้านบาท ได้พิจารณาหลักเกณฑ์ระเบียบที่กฟก.สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ 5.5 หมื่นราย ซึ่งมติครม.เมื่อวันที่ 2 ต.ค.มีมติพิจารณาแก้ปัญหาหนี้สิน ลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) 3.6 หมื่นราย ทั้งนี้ยังมีเกษตรกร อีก 4.2 พันรายที่อยู่ในระหว่างถูกเจ้าหนี้ฟ้องศาลและอยู่ระหว่างการบังคับคดี ทางกฟก.เฉพาะกิจได้ประสานงานกับเจ้าหนี้ให้ชะลอการฟ้องร้องและประสานกรมบังคับคดี ให้ชะลอการบังคับคดีออกไป ซึ่งเจ้าหนี้บางรายยินยอมชะลอให้ได้ 100 กว่าราย อีก 4 พันกว่าราย เป็นไปตามขั้นตอนของกฏหมาย” นายกฤษฏา กล่าว

           สำหรับ​กลุ่มเกษตรกรที่มาชุมนุมเรียกร้องหน้ากระทรวงเกษตรฯ ต้องการให้ กฟก.ดำเนินการช่วยเหลือซื้อหนี้โดยให้ปฏิบัติตามมติครม.ปี 2553 ซึ่งจะให้กระทรวงเกษตรฯ เจรจากับธนาคารและสหกรณ์ที่เป็นเจ้าหนี้ให้ตัดเงินต้นร้อยละ 50 พร้อมดอกเบี้ยทิ้ง ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งให้ กฟก.ซื้อหนี้มา ซึ่งเกษตรกรจะผ่อนชำระกับกฟก. แต่ด้วยระเบียบการเงินการคลังซึ่งดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทยประกอบกับข้อเสนอแนะจาก สตง.ระบุว่า ทางกฟก. ไม่สามารถเข้าไปซื้อหนี้นอกเกณฑ์ได้ รวมถึงได้สรุปผลการตรวจสอบการปฏิบัติตามมติครม. ปี 2553 แล้วว่า มีกรณีที่ทำไม่ถูกต้อง ดังนั้นจึงขอให้เกษตรกรเข้าใจถึงเหตุผลที่กระทรวงเกษตรฯ ในฐานะคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ เฉพาะกิจ จึงไม่สามารถแก้ไขโดยการซื้อหนี้สินตามข้อเรียกร้องของเกษตรกรบางกลุ่มได้

              “ทางกระทรวงเกษตรฯ เห็นใจพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง ต้องการจะช่วยเหลือในแนวทางที่ทำได้ โดยเป็นคนกลางในการเจรจาให้เจ้าหนี้กับลูกหนี้มาพบกันเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นรายๆ ไป ทั้งนี้เกษตรกรกรที่เป็นหนี้ต้องไปแสดงตนกับธนาคารและสหกรณ์เจ้าหนี้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจา โดยเจ้าหนี้ทั้งหมด ได้ยืนยันมาว่าจะไม่เอาเปรียบเกษตรกรอย่างแน่นอน มีระเบียบในการยุติหนี้ในบางกรณีได้แก่ ชราภาพ ผู้พิการ  ผู้ป่วยที่ประกอบอาชีพไม่ได้ ผู้เสียชีวิตไปแล้ว ญาติต้องไปแจ้งทางเจ้าหนี้ซึ่งมีระเบียบยกหนี้ให้เลย หากเข้ากระบวนการเจรจาเแล้ว รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมให้มาประสานกับกฟก.อีกครั้ง สำหรับคณะกรรมการ​ชุดเฉพาะกิจที่รมว.เกษตรฯ​ เป็นประธานสิ้นสุดวาระแล้ววันนี้ ดังนั้น​อำนาจหน้าที่การจัดการหนี้สินเกษตรกรจะกลับไปเป็นของ กฟก.​ ดังเดิม ซึ่งจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการกฟก. ขึ้นมาใหม่ เกษตรกรเป็นสมาชิกมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยสรุปผลการดำเนินงานของกฟก. เฉพาะกิจรายงานให้ครม. รับทราบแล้ว” นายกฤษฏา กล่าว

             รมว.กระทรวงเกษตรฯ กล่าวอีกว่า ในส่วนของเครือข่ายหนี้สินเกษตรกรภาคกลางราว 150 คนยังคงชุมนุมอยู่หน้ากระทรวงเกษตรฯ แม้ว่าเจ้าหน้าที่กฟก.ได้ไปชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องเงื่อนไขแก้หนี้ของกฟก. แล้ว อีกทั้งยังมีสหพันธ์เครือข่ายเกษตรกรแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า กลุ่มเกษตรกรจะเดินทางมาชุมนุมในกรุงเทพมหานครเพื่อเรียกร้องให้กฟก.เข้าซื้อหนี้เกษตรกรไปบริหารเองภายใน 15 พฤศจิกายนนี้