สทนช. ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ วางแผนใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างรับน้ำเหนือ พร้อมเร่งเดินหน้าโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ล่าสุดจับมือจุฬาฯศึกษาติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2561 นี้
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ติดตามประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ เมื่อวันที่15 มิถุนายน 2561 สืบเนื่องมาจากมติที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 รับทราบแผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 2561 ของคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอนุกรรมการ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในด้านต่างๆ เช่น การจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำ กำจัดสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ ซ่อมแซมอาคารควบคุมน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ตลอดจนการแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำให้ทันก่อนการรับน้ำหลาก นอกจากนั้นยังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรับรู้ให้ประชาชนด้วย
ทั้งนี้ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจและฐานการผลิตของประเทศ โดยในช่วงฤดูฝนปี 2560 รัฐบาลได้ดำเนินการนำร่องปรับปฏิทินการปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ประมาณ 1.15 ล้านไร่ (ทุ่งเชียงราก จ.สิงห์บุรี ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท–ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งป่าโมก จ.อ่างทอง ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และทุ่งรังสิตใต้) ให้เร็วกว่าปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงผลผลิตได้รับความเสียหายจากฤดูน้ำหลาก และให้เป็นพื้นที่รับน้ำหรือเป็นแก้มลิงธรรมชาติในการหน่วงน้ำได้ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในช่วงปลายฤดูฝน
แม้ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาจะประสบผลสำเร็จ อย่างน่าพอใจ แต่ก็ยังประสบปัญหาในบางพื้นที่ที่มีน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร ถนนที่ใช้สัญจร การนำน้ำเข้าทุ่งและระบายออกจากทุ่งไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ดังนั้น สทนช. จึงได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกันวางแผน เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำพร้อมกับแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีกครั้งในฤดูน้ำหลากปี 2561 นี้
[adrotate banner=”3″]
เลขาธิการ สทนช. กล่าวอีกว่า การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 12 ทุ่งดังกล่าว มีโครงการสำคัญๆ เช่น โครงการประตูระบายน้ำปากคลองบางบาล พร้อมสร้างบันไดปลา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำหลากและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจนถึงอ่าวไทย และเพิ่มศักยภาพในการใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรมจำนวน 229,138 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางบาล อ.บางไทร อ.บางปะอิน อ.ผักไห่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เมื่อแล้วเสร็จจะมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้สูงสุดถึง 500 ลบ.ม./วินาที
ทั้งนี้คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2563 ใช้งบทั้งสิ้นประมาณ 266.7 ล้านบาท ดำเนินการโดยกรมชลประทาน นอกจากนี้ยังมีแผนที่ปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ ในปีงบประมาณ 2561 – 2564 เช่น การก่อสร้างคันกั้นน้ำคลองระบายน้ำใหญ่สุพรรณและอาคารประกอบ การก่อสร้างสถานีสูบน้ำวัดคงษา การก่อสร้างท่อระบายน้ำปากคลองระบายน้ำใหญ่แม่น้ำน้อย การก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองเจ๊ก การปรับปรุงติดตั้งเครื่องสูบน้ำและตู้ควบคุมประตูระบายน้ำกุฎี การปรับปรุงประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองวัดใบบัว การปรับปรุงประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองตานึ่ง การปรับปรุงประตูระบายน้ำปลายคลองผักไห่–เจ้าเจ็ด เป็นต้น
ส่วนในพื้นที่ลุ่มต่ำอื่นๆ ได้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำโดยการใช้สิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่และกำลังก่อสร้าง เช่นในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้วางแผนพร่องน้ำออกจากแก้มลิง 2 แห่ง เพื่อรอรับน้ำหลากที่จะไหลลงท่วมพื้นที่เกาะในตัวเมือง คือ แก้มลิงทุ่งมะขามหย่อง สามารถรองรับน้ำได้ 1.2 ล้าน ลบ.ม. และแก้มลิงทุ่งภูเขาทอง รองรับน้ำได้ 2.0 ล้าน ลบ.ม. พร้อมใช้ประตูระบายน้ำ 3 แห่ง ในการบริหารจัดการน้ำ คือ ประตูระบายน้ำหันตรา ประตูระบายน้ำข้าวเม่า และประตูระบายน้ำกระมัง นอกจากนี้ยังใช้มาตรการไม่ใช้สิ่งปลูกสร้าง เช่น การกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ การเตรียมเครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ เป็นต้น รวมทั้งยังได้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำในเขื่อนสำคัญให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมและใช้ในการหน่วงน้ำ การวางแผนจัดจราจรทางน้ำ เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้วยกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจและฐานการผลิตของประเทศ การบริหารจัดการน้ำจะต้องมีประสิทธิภาพสูงสุด สทนช. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการศึกษาติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 8 ลุ่มน้ำหลักคือ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา ป่าสัก สะแกกรัง และท่าจีน มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวม 99.12 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่า 47.10 ล้านไร่ พื้นที่การเกษตร 37.96 ล้านไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่เมืองและอื่นๆ โดยจะศึกษาเพื่อประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกำหนดแนวทางปรับปรุงการดำเนินงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2561 นี้อย่างแน่นอน