“กฤษฎา”สั่งด่วนทั้งส่วนกลาง-ภูมิภาคแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด

  •  
  •  
  •  
  •  
“กฤษฎา” สั่งด่วนให้หน่วยงานใต้สังกัด เร่งแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ให้ระดมสมองหาวิธีการ และมาตรการรองรับ พร้อมมอบให้ปลัดกระทรวงฯ ตั้งคณะคณะทำงานเพื่อศึกษาหาแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหา 4 แนวทาง หวังแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน
           นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า  ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พบว่าเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ไม่มีการวางแผนการผลิตโดยไม่คำนึงถึงความต้องการ (Demand) ของตลาดหรือผู้บริโภค ทำให้เกิดภาวะล้นตลาด (Over Supply) จนทำให้ราคาตกต่ำ และได้เรียกร้องหรือกดดันให้รัฐช่วยเหลือในเรื่องการจ่ายเงินชดเชยส่วนที่ขาดทุนหรือการรับจำนำหรือประกันราคาผลผลิตที่ไม่อิงราคาตลาด หรือขอให้ใช้งบประมาณรัฐมาซื้อผลผลิตในราคานำตลาด ซึ่งมาตรการเหล่านี้ รัฐได้ดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน จะเห็นได้จากปัจจุบัน ยังมีการเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากเกษตรกรกลุ่มต่างๆตามฤดูการผลิตตลอดมาเป็นระยะๆ

[adrotate banner=”3″]

            ดังนั้น เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือและคุ้มครองผู้มีอาชีพเกษตรกรรมจำนวนประมาณ 7 ล้านครอบครัวหรือ 24 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มหนึ่งเช่นเดียวกับผู้มีอาชีพอื่นๆ จึงขอให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ และผู้บริหารทุกระดับได้ช่วยกันคิดค้นหรือระดมสมองหรือเชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรวมทั้งนักวิชาการด้านเศรษฐกิจการเกษตรและผู้แทนกลุ่มเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรตลอดจนผู้รู้จากภาคเอกชนมาช่วยกันวิเคราะห์และศึกษาหาวิธีการ หาอมาตรการ (Key Solutions) ในการแก้ไขปัญหาว่า การที่เกษตรกรไม่วางแผนหรือไม่ปฎิบัติตามแผนการผลิตจนทำให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดดังนี้
         1.ถ้ากระทรวงเกษตรฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะกำหนดแผนการผลิตทางการเกษตรควรกำหนดชนิดหรือประเภทของพืชและหรือปศุสัตว์อะไรบ้างที่ควรบรรจุอยู่ในแผนการผลิตและควรมอบหมายให้หน่วยงานใดหรือควรแต่งตั้งคณะกรรมการจากหน่วยใดบ้างให้เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำหรือกำหนดแผนการผลิตทางการเกษตรกรรมของประเทศ ,2.ในแผนการผลิตทางการเกษตรกรรมข้างต้นควรมีรายละเอียดหรือองค์ประกอบในแผนการผลิตอย่างไรบ้าง
         3.ขอให้นำพ.ร.บ. เศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ.๒๕๒๒ และพ.ร.บ. กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ.๒๕๕๔ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายอยู่แล้วมาพิจารณาว่า มีสาระหรือบทบัญญัติที่จะนำมาใช้ดำเนินการจัดทำแผนการผลิตทางการเกษตรกรรมได้หรือไม่ รวมทั้งให้ศึกษาว่ามีวิธีการอย่างไรบ้างที่จะทำให้เกษตรกรปฎิบัติตามแผนการผลิตทั้งนี้อาจนำจุดแข็งและจุดอ่อนของการวางแผนข้าวครบวงจรและหรือการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอ้อยตามกฎหมายอ้อยและน้ำตาลมาพิจารณาประกอบด้วยก็ได้ และ 4.กระทรวงเกษตรฯควรกำหนดเงื่อนไขหรือควรจัดบริการใดๆ (Incentives)ให้แก่เกษตรกรเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนหรือแรงจูงใจให้เกษตรกรทำการเกษตรตามแผนการผลิตทางการเกษตรกรรมอย่างจริงจังต่อไป

        ทั้งนี้ ขอให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาหาแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการเกษตรกรรมดังกล่าวข้างต้นให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนด้วย