“ฉัตรชัย” สั่ง 2 หน่วยงานเกี่ยวกับบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จับตาสถานการณ์น้ำใกล้ชิด เพื่อรับสถานการณ์น้ำไหลหลากในฤดูฝนปี 2561นี้ ด้านคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำฯ เคาะแผนพร้อมรับมือเต็มที่ ขณะที่ สทนช.เตรียมระดมทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง เดินสายแจงข้อมูลภาคประชาชนและท้องถิ่น ให้เตรียมพร้อมการล่วงหน้า หวังลดผลกระทบพื้นที่เสี่ยงภัย
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 30 พ.ค.61 พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2561 ณ ห้องประชุม301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยสาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ เพื่อเป็นการติดตามงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอัพเดทสภาพภูมิอากาศ สถานการณ์น้ำ และการคาดการณ์แนวโน้มปริมาณฝน
ในการประชุมในครั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย ได้กำชับให้คณะทำงาน 2 คณะภายใต้คณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้แก่ คณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและคณะทำงานอำนวยการจัดการข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งมีเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธาน เร่งจัดประชุมคณะทำงานภายในเดือนมิถุนายนนี้
ทั้งนี้เพื่อวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำได้อย่างทันต่อห้วงเหตุการณ์ และจะได้แจ้งเตือนประชาชนได้ทันเวลาตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างทางการแล้วเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า การประชุมในครั้งนี้ สทนช.ได้มีการวิเคราะห์และชี้เป้าพื้นที่ที่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) จำนวน 66 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ 29.69 ล้านไร่ทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก 28 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ 8.52 ล้านไร่
อย่างไรก็ตาม สทนช.ได้ประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง 15 หน่วยงาน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากปี 2561 โดยมีแผนปฏิบัติการในแต่ละด้านให้ชัดเจน พร้อมทั้งจัดทำช่องทางการให้ข้อมูลข่าวสาร การแจ้งเตือนเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน แบ่งเป็น 1.การติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ฝน พายุ ดินถล่ม และเฝ้าระวังอุทกภัยด้วยดาวเทียม
2.การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง คือ มีปริมาณน้ำเก็บกักเกินกว่า 80% ของความจุอ่างที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 40 อ่างฯ การสำรวจตรวจสอบแหล่งเก็บน้ำธรรมชาติแม่น้ำสายหลักโดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กให้แล้วเสร็จภายในมิ.ย. พร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน 3.การตรวจสอบความมั่นคงและสภาพการใช้งานของเขื่อน ประตูระบายน้ำ คันคลองชลประทาน และคันกั้นน้ำ
4.การกำจัดสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ และการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำตัดยอดน้ำและการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเส้นทางสัญจรในพื้นที่ลุ่มต่ำ 5.การเตรียมความพร้อม เครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือและการบรรเทาอุทกภัยโดยกำหนดให้มีแผนป้องกันภัยระดับจังหวัด โดยที่ประชุมได้มอบหมายทุกหน่วยงานรายงานปัญหาอุปสรรคเพื่อจะได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ทันสถานการณ์และรายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมรับทราบเป็นระยะด้วย
ทั้งนี้ หากมีสถานการณ์ที่มีแนวโน้มรุนแรงหรือวิกฤติ รองนายกฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งผู้แทนร่วมปฏิบัติการศูนย์วอลลูม ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC)ณ กรมชลประสามเสน เพื่อให้การสั่งการ หรือตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้รวดเร็วและเบ็ดเสร็จ
[adrotate banner=”3″]
ขณะเดียวกัน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันลงพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยในช่วงเดือนต่าง ๆ ตามอิทธิพลลมมรสุม เป็นการสร้างการรับรู้ การเฝ้าระวัง ให้กับประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลาก ปี 2561 เพื่อชี้แจงข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจจากระบบการคาดการณ์ การเตรียมความพร้อมแหล่งน้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รองรับน้ำ และการเตรียมความพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์บรรเทาอุกภัยให้สามารถแก้ไข บรรเทาปัญหาอุทกภัยให้ได้มากที่สุด
โดยมีกำหนดการลงพื้นที่สร้างการรับรู้ภาคประชาชน จำนวน 8 ครั้งครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา สกลนคร อุบลราชธานี กาญจนบุรี ระยอง และสงขลา ซึ่งจะเริ่ม Kick off อย่างเป็นทางการในวันที่ 4 มิ.ย. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กนช.เป็นประธานพร้อมมอบนโยบายเพื่อกำหนดทิศทางการปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำของประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วย