คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พิจารณา 5 แผนงานสำคัญ มอบ สทนช. ปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานโครงการ งบประมาณจากทุกแหล่งเงิน และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ หวังลดความซ้ำซ้อน สั่งเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญๆ พร้อมเร่งสร้างการรับรู้แผนการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากปีนี้
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน กนช. กำกับดูแลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (21 พฤษภาคม 2561) เวลา 13.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2561 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบแผนงานสำคัญ ๆ 5 เรื่อง ได้แก่ 1. การปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงาน โครงการ และงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ ซึ่งจากการรายงานของ สทนช. พบว่า งบประมาณบูรณาการด้านน้ำ ปี 2562 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 63,271 ล้านบาท แต่ยังคงมีบางหน่วยงานนำเสนอแผนงานด้านน้ำเพื่อขอรับงบประมาณจากแหล่งเงินอื่น ๆ อีก เช่น งบจังหวัด งบกลุ่มจังหวัด หรือในลักษณะบูรณาการอื่น ๆ
ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติให้ สทนช. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ พิจารณาแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและโครงการจากทุกแหล่งเงิน เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับแผนงานอื่น
2.การขับเคลื่อนแผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ปี 2562 – 2565 ที่สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีทั้งหมด 30 โครงการ เพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำรวมทั้งหมดได้ 4,320 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีพื้นที่ได้รับประโยชน์รวม 4.5 ล้านไร่ มีโครงการที่ผ่านการพิจารณากรอบวงเงินปี 2562 จำนวน 3 โครงการ คือ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก จ.เลย และโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำพร้อมคลองผันน้ำ 4 สาย จ.สกลนคร และมีโครงการอยู่ระหว่างการออกแบบ จำนวน 3 โครงการ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ จ.ชัยภูมิ โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร พร้อมอาคารประกอบ จ.พระนครศรีอยุธยา โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร ซึ่งที่ประชุมได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอรายละเอียดโครงการสำคัญเหล่านี้ให้ กนช. พิจารณาในการประชุมคราวถัดไป
[adrotate banner=”3″]
3.โครงการระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จ.หนองบัวลำภู เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก วงเงินประมาณ 210.82 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่จังหวัดขอรับการสนับสนุนงบประมาณในคราวที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปตรวจราชการในพื้นที่ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561 ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการ ให้ จ.หนองบัวลำภูไปดำเนินการปรับแผนใช้เงินเหลือจ่ายของหน่วยงานในเบื้องต้นก่อน แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้งบกลาง ให้ประสานกับสำนักงบประมาณ และให้กระทรวงพลังงานสนับสนุนระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
4.การปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2550 ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้ สทนช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติฉบับใหม่เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป โดยเน้นการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ให้ สทนช. เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มน้ำ พร้อมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ร่วมพิจารณาตัดโอนอัตรากำลังที่สอดคล้องกับภารกิจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักงบประมาณ สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการต่อไป
และ 5. การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ด้านนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ประชุมเห็นชอบให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักด้านนโยบายในการประสานงานการบริหารจัดการน้ำกับองค์การนานาชาติ องค์การระหว่างประเทศ ความร่วมมือทวิภาคี พหุภาคี และให้เป็นหน่วยงานหลักในการกระจายภารกิจที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานอย่างเป็นเอกภาพ โดยให้ สทนช. กพ. กพร. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการดำเนินการดังกล่าว และเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป
ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ในฐานะ เลขานุการ กนช. กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้ รับทราบผลการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตั้งแต่ปี 2557-2560 การดำเนินงานตามมติ กนช. และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเรื่องสำคัญ เช่น การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ที่ยังคงเหลือหมู่บ้านที่ไม่มีระบบประปา จำนวน 256 หมู่บ้าน จะดำเนินการเร่งรัดให้ครบทุกหมู่บ้านภายในปี 2562 การปรับปรุงร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการปฏิรูปประเทศ การกำหนด Area Based 66 พื้นที่ ให้ สทนช.ดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนงานโครงการสำคัญในพื้นที่ดังกล่าว การดำเนินการปรับปรุงสิ่งกีดขวางลำน้ำในพื้นที่ภาคใต้ 111 แห่ง กำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 การขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ป่าอนุรักษ์ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการคู่ขนานกันและประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนดไว้
ในส่วนของแผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 2561 ซึ่งคาดว่าจะมีค่าฝนเฉลี่ยน้อยกว่าปกติ 5 – 10 % และน้อยกว่าปี 2560 โดยอาจจะเกิดฝนทิ้งช่วง ในเดือนมิถุนายน และจะมีโอกาสเกิดพายุเข้าประเทศไทยจำนวน 1 – 2 ลูก ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน มีการวางแผนเพาะปลูกข้าวในช่วงฤดูฝน จำนวน 60 ล้านไร่ และจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในทุกภาคส่วน รวม 88,771 ล้าน ลบ.ม. หลังสิ้นฤดูฝนคาดว่าจะมีน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่การเกษตรฤดูแล้ง ปี 2561/62 ประมาณ 60,064 ล้านลบ.ม. มากกว่าปี 2560 จำนวน 10,910 ล้านลบ.ม.
สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากในปีนี้นั้น ที่ประชุมได้สั่งการให้กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำหลาก โดยให้ สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำในฤดูน้ำหลาก การจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ตลอดจนการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ภาคประชาชนในการรับมือน้ำหลาก ในปีนี้ สทนช.เตรียมจัดงาน “การเตรียมความพร้อมจัดการน้ำหลาก ปี 2561” ในวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในงานและได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมจัดนิทรรศการเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การบูรณาการเตรียมความพร้อมของรัฐบาลในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากปี 2561 นี้ ซึ่งการดำเนินงานในช่วงต่อจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อสร้างความรับรู้ให้แก่ประชาชนต่อไป