สธ.เตือนฉลองสงกรานต์เลี่ยงอาหารสุกๆดิบๆ กะทิ พบป่วยแล้วกว่า4แสนราย

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงสาธารณสุข สั่งทุกจังหวัดเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษ โรคท้องร่วง แนะประชาชนเลี้ยงฉลองเทศกาลสงกรานต์ ให้กรับประทานอาหารสุก ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” เตือนให้เลี่ยงเมนูอาหาร ยำสุกๆดิบๆ อาหารกะทิ สามารถลดความเสี่ยงได้ ระบุปีนี้พบผู้ป่วยแล้วกว่า 4 แสนราย เสียชีวิต 1 ราย

                นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทางนายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้เฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษ โรคท้องร่วง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ เนื่องจากในช่วงฤดูร้อนอาหารจะบูดเสียง่าย สำนักระบาดวิทยารายงานตั้งแต่ต้นปี 2561 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษทั่วประเทศ 35,484 ราย และโรคอุจจาระร่วง 377,127 ราย เสียชีวิต 1 ราย
               นายแพทย์โอภาส กล่าวอีกว่า การป้องกันโรคที่มากับน้ำและอาหารให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือบ่อย ๆ ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หลีกเลี่ยงเมนูอาหารเสียง่าย เช่น ลาบ ก้อยดิบ ยำกุ้งเต้น  ยำหอยแครง ยำทะเล  ข้าวผัดโรยเนื้อปู อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด ขนมจีน ข้าวมันไก่ ส้มตำ สลัดผัก และน้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน

[adrotate banner=”3″]

            นอกจากนี้ให้สังเกตอาหารก่อนรับประทาน หากมีกลิ่น รส หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทาน และเก็บอาหารไว้ในตู้เย็น เพื่อชะลอการเติบโตเชื้อโรค หากเป็นอาหารข้ามมื้อต้องอุ่นให้เดือดก่อนรับประทาน หากซื้ออาหารกล่อง ขอให้ซื้อจากร้านที่สะอาด ผ่านมาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย

            “โรคอาหารเป็นพิษมักพบหลังจากที่กินอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนไปแล้วภายใน 2-4 ชั่วโมง โดยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ปวดมวนท้องรุนแรง เป็นไข้ และปวดศีรษะร่วมด้วย บางครั้งมีอาการถ่ายอุจจาระปนเลือด หรือเป็นมูกคล้ายเป็นบิด การดูแลเมื่อมีอาการอุจจาระร่วงให้ดื่มสารละลายเกลือแร่ (โออาร์เอส) ผสมน้ำสะอาดบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ หากอาการไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กและผู้สูงอายุอาจมีอาการรุนแรงต้องรีบไปพบแพทย์ที่สถานบริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ที่มาจ้อมูล:ทำเนียบรัฐบาล