“เอฟ เอ โอ”ยกย่อง”สมเด็จพระเทพฯ”ทรงเป็นผู้นำแก้ความหิวโหย

  •  
  •  
  •  
  •  

“เอฟ เอ โอ” ยกย่องสมเด็จพระเทพฯ ท่ามกลางที่ประชุมสมัชชาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 34 ที่ฟิจิ ในฐานะทูตพิเศษประจำเอฟ เอ โอ แก้อดยากหิวโหย ทั้งไทยและภูมิภาค  “กฤษฎา”ย้ำจุดยืนของไทยร่วมขจัดความอดอยากสำเร็จภายใน 12 ปี พร้อมเชิญชวนประเทศสมาชิกร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์”วันดินโลก 5 ธค.” เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารโลก ชี้รัฐบาลไทยเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติเข้ากับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ 20 ปี

          วันที่12 เม.ย.6  นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้แทนประเทศไทยได้เข้าร่วมพิธีเปิดและร่วมประชุมสมัชชาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 34 ณ เมืองนาดี สาธารณรัฐฟิจิ ระหว่าง 11-13 เม.ย.61 โดยมีนายJioji Konrote ประธานาธิบดีฟิจิ และนายโฮเซ กราเชียโน ดา ซิลวา ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟ เอ โอ) ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด


ภายในงานได้มีการฉายวิดีทัศน์สมเด็จพระเทพฯ ที่ได้ทรงกล่างถึงการแก้ไขปัญหาความขาดแคลนอาหารและการปรับปรุงโภชนาการ โดยนายโฮเซ กราเชียโน ดา ซิลวา ผู้อำนวยการใหญ่ของเอฟ เอ โอ ได้กล่าวยกย่องถึงบทบาทของสมเด็จพระเทพรัตน์ฯในฐานะทูตพิเศษประจำเอฟ เอ โอ ในการทรงรณรงค์แก้ไขปัญหาการขาดอาหารและโภชนาการ ทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคอื่นๆ ที่ทรงมีพระราชกรณียกิจช่วยเหลือผู้ยากไร้ และพัฒนาโภชนาการของเด็ก นอกจากนี้ ทางเอฟ เอ โอ ยังมีการแจกจ่ายเอกสารเผยแพร่พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเทพฯ ในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรด้วย

          นายกฤษฏา  เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะ ขจัดความอดอยากหิวโหยให้หมดไป รัฐบาลไทยได้เชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติเข้ากับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทย และยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ 20 ปี ระหว่างปี 2560 ถึง ปี 2579 โดยน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการพัฒนาแบบยั่งยืน  โดยคำนึงถึง สิ่งแวดล้อมที่อยู่ในขณะนั้น ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรมาเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไข ปัญหาความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและเกษตรกร แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เสริมสร้างความมั่นคงอาหาร พัฒนา โภชนาการและความปลอดภัยอาหาร เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ของประชาชนและประเทศชาติ ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะทรงสานต่อโครงการพระราชดำริและพระราชกรณียกิจในการช่วยเหลือเกษตรกร และการแก้ไขปัญหาความยากจน 

    

      ขณะที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งทูตพิเศษด้านการขจัดความหิวโหยสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก พระองค์ทรงดำเนินโครงการเพื่อช่วยลดความหิวโหยมาตั้งแต่ปี 2523 เช่น โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน กองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร  พระองค์มีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค เช่น ลาว พม่า กัมพูชา ภูฏาน และบังกลาเทศ เป็นต้น  โดยเมื่อปี 2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการจัดตั้งภาคีพัฒนาโคนมแห่งเอเชีย เพื่อส่งเสริมและพัฒนา งานด้านโคนม เพื่อให้น้ำนมมีคุณภาพ และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร โคนมในระดับภูมิภาค ประกอบกับรัฐบาลไทยได้ดำเนินโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสารอาหารในเด็กวัยเรียน และสนับสนุนอุตสาหกรรมโคนมดังกล่าวด้วย

 

        นายกฤษฏา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับนโยบาลของรัฐบาลไทยขณะนี้ได้ริเริ่มโครงการไทยนิยมยั่งยืน โดยจัดสรรเงินงบประมาณกว่า 100,000 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการดังกล่าวมีแผนงานและงบประมาณด้านการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรกว่า 24,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ โดยใช้แนวคิดการทำงานร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน หรือ “ประชารัฐ” โดยมีการจัดทำประชาคม และรับฟังปัญหาระดับชุมชน  โดยใช้การสำรวจความต้องการและปัญหาในระดับชุมชนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

[adrotate banner=”3″]

     “ที่ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา ความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร  อาทิ การส่งเสริมสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้แก่เกษตรกรรายย่อย โดยนำระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่มาใช้กับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย การยกระดับมาตรฐานคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด โดยใช้แนวคิด “การตลาดนำการผลิต” การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ และสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรมืออาชีพก่อให้เกิดการพัฒนา ชนบทอย่างยั่งยืน การลดการใช้สารเคมีในการผลิต สร้างความรู้ความเข้าใจรณรงค์ลดการใช้ยาฆ่าแมลง ยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยาในภาคเกษตร โดยดำเนินการภายใต้หลักสุขภาพหนึ่งเดียว ร่วมกับ เอฟ เอ โอ กระทรวงสาธารณสุข เกษตรกร  ผู้ผลิต และผู้บริโภค” นาย  กฤษฏา กล่าว

   

       ในโอกาสนี้ประเทศไทยขอขอบคุณที่องค์การสหประชาชาติที่ได้มีมติรับรองให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดินโลก”และขอเชิญชวนประเทศสมาชิกร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักในการจัดการทรัพยากรดิน อย่างยั่งยืน เพื่อความมั่นคงทางอาหารของโลก โดยยึดหลักการปฏิบัติตามคู่มือ การปฏิบัติงานด้วยความสมัครใจ เพื่อการจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืนของ เอฟ เอ โอ อย่างต่อเนื่องทุกปี นอกจากนี้ไทยได้รับเกียรติเป็นประธานสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินแห่งเอเชีย ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านดินระดับโลกของเอฟ เอ โอ เราจะมุ่งมั่นการจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืนของโลกอย่างจริงจัง ซึ่งใสนเวทีนี้ไทยได้กล่าวยืนยันที่จะดำเนินงานเพื่อขจัดความหิวโหยทั้งในระดับประเทศและร่วมกับ ประชาคมโลก  ในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำมั่นไว้ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ปี 2558 ณ นครนิวยอร์ก และรัฐบาลไทยหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะนำวิสัยทัศน์ของการขจัดความอดอยากหิวโหยของภูมิภาคไปสู่ความเป็นจริงก่อนปี 2573