ย้อนปม เด้ง “ธีธัช” พ้นผู้ว่า กยท.ไปตบยุงที่สำนักนายกฯ

  •  
  •  
  •  
  •  

    ย้อนปม เด้ง “ธีธัช” พ้นผู้ว่า กยท.ไปตบยุงที่สำนักนายกฯ  

โดย …ดลมนัส  กาเจ

          ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ใช้อำนาจหน้าที่ ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2561 ลงวันที่ 20 มี.ค.2561 เรื่องให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐไปปฎิบัติหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี มีรายละเอียดว่า ตามที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 68/2559 เรื่องมาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว ลงวันที่ 16 พ.ย. 2559 โดยให้มีกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นเป็นกรณีพิเศษในสำนักนายกรัฐมนตรี สำหรับรองรับการบรรจุและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งไม่เป็นข้าราชการเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของงานและแก้ไขข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐอันจะเป็นประโยชน์ในการปฏิรูประบบราชการแผ่นดินนั้น

          เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลและหน้าที่ความรับผิดชอบให้เกิดประสิทธิภาพของงานและแก้ไขข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานของการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) อาศัยอำนาจตามความในข้อสอง ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 68/2559 เรื่องมาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐในการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราวลงวันที่ 16 พ.ย. 2559 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้ นายธีธัช  สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษงานปลัดสำนักนายกฯ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยรับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์จากการยางแห่งประเทศไทยและยังไม่พ้นจากตำแหน่งเดิม จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นประการอื่น ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

          ก่อนที่นายธีธัช สุขสะอาด จะผ่านการคัดเลือกจากที่ประชุมบอร์ด กยท. ให้เป็นผู้ว่า กยท.อย่างเป็นทางการคนแรกนั้น อยากย้อนที่มาคือ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้ง พลเอกฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) อย่างเป็นทางการแทนนายเลิศวิโรจน์   โกวัฒนะ  รองปลัดกระทรวงเกษตร ที่รักษาการประธานบอร์ด และต่อมา วันที่ 15 มีนาคม 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้ง นายธีธัช สุขสะอาด เป็นผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยคนแรก

          ก่อนที่นายธีธัช จะมาดำรงตำแหน่ง ผู้ว่า กยท.คนแรกนั้น ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการองค์การตลาด รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และเมื่อครั้งที่เป็นผู้อำนวยการองค์การตลาดนั่นเอง เคยร้องเรียนว่าทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (พ.ร.บ.ฮั้ว) และบอร์ดองค์การตลาดได้มีมติเอกฉันท์ให้เลิกจ้างไว้ก่อนเมื่อเดือน พ.ย.2555 แต่ภายหลังสามารถชี้มูลของ ป.ป.ช.ไปได้

[adrotate banner=”3″]

          ว่ากันว่า กว่าที่บอร์ด กยท.จะเลือกนายธีธัช  ให้นั่งผู้ว่าการ กยท.นั้น มีเรื่องราวมากมายที่ไม่ธรรมดาในวงการยางซึ่ง 1 ในคณะกรรมการบอร์ดที่เป็นตัวแทนจากภาคเกษตรภาคใต้ พาเขาเข้าพบ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานบอร์ด กยท.เพื่อเป็นการแนะนำตัว  และฝากฝัง จึงนำมาซึ่งมติของที่ประชุมดังกล่าว ท่ามกลางตัวแทนจากภาคอื่นๆ ส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วย

          คราวนั้นคนในวงการยางพูดกันสนุกปากว่า มีการเฉลิมฉลองเปิดไวน์ดื่มกันในก๊วนนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลในภาคกลาง ทำให้เสียงชนแก้วดังมาเป็นระยะ ด้วยสายลมอันเงียบสงบในยามดึก เสียงชนแก้นได้ยินไปบ้านของ 2 ผู้ยิ่งใหญ่ที่มีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับรัฐบาล คสช.ที่ปกครองบ้านเมืองในตอนนี้
          การนั่งบนเก้าอี้ ผู้ว่า กยท.ไม่นาน เสียงนินทา ในลักษณะกล่าวหาว่าฝีมือไม่ถึงมาเป็นระลอก เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้ และเรื่องที่สนิทสนมที่ไม่ปกติกับ 5 เสือนอนกินในแวดวงส่งออกยางพารา หนักสุดเรื่องปุ๋ย กยท.แพงกว่าท้องตลาดเป็นต้น

 

                                                                                อุทัย  สอนหลักทรัพย์

         แล้ววันหนึ่งปมปัญหาความขัดแย้งได้เกิดขึ้นถึงขนาด สภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย ( สยยท.) ที่มีนายอุทัย  สอนหลักทรัพย์ เป็นแกนนำ กับชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ออกโรงขับไล่ ธีธัช สุขสะอาด พ้นผู้ว่า กยท.เกิดขึ้น  เพราะไม่ยอมยกเลิกบริษัทร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด โดยให้เหตุผลว่า รับซื้อยางไม่ถูกต้อง ไม่โปร่งใส รับซื้อเฉพาะยางของกลุ่มตัวเอง ซื้อในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้อง การเก็บยางในสต็อกไม่ถูกวิธี และไม่มีความโปร่งใสในการจัดซื้อปุ๋ยให้กับเกษตรกร ผสมผสานพกับไม่สามารถในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

         กระนั้นการเรียกร้องของตัวแทนของชาวสวนยางไม่บรรลุผล เนื่องจาก  พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯไม่มีอำนาจในการที่จะปลดผู้ว่า กยท.เป็นหน้าที่ของบอร์ด กยท.  หากแต่ความจริง คนคอการเมืองวิเคราะห์ว่า “บิ๊กฉัตร” ไม่กล้า เพราะนายธีธัช เส้นไม่ธรรมดา ประกอบกับช่วงนั้นยังอยู่ท่ามกลางกระแสข่าวลือ “รัฐมนตรีขาลง”กับข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้น

        กระทั่งวันที่ 20 มี.ค.2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2561 ให้ย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว