ทำได้เลย“เปลี่ยนเปลือกให้เป็นปุ๋ย”ประโยชน์ 3 ต่อที่แม่แจ่ม

  •  
  •  
  •  
  •  

“อาจารย์ยักษ์” นำทีมข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ผนึกกำลัง “เปลี่ยนเปลือกให้เป็นปุ๋ย” ได้ประโยชน์ 3 ต่อ “ลดปริมาณซังข้าวโพด- เพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ – หยุดปัญหาหมอกควัน” พร้อมประกาศ 60 วันห้ามเผา ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ถึง 20 เมษายนนี้ ชี้เผาต่อซัง ทำให้เกิดหมอดควัน งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 4 พันล้านบาทต่อปี

         ​​ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำทีมข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเครือข่ายประชารัฐ จัดกิจกรรม “คืนชีวิตให้แจ่ม” ณ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ นำศาสตร์ด้านการฟื้นฟูดินด้วยการ “ห่มดิน” โดยนำวัสดุอินทรีย์มาปกคลุมดินไว้เพื่อรักษาความชื้นในดินและเพิ่มอินทรียวัตถุ พร้อมทั้งชักชวนเครือข่ายจิตอาสากว่า 900 คน นำข้าวโพดมาห่มดิน ราดด้วยน้ำหมักรสจืด ได้ประโยชน์ 3 ต่อ คือลดปริมาณซังข้าวโพด เพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ หยุดปัญหาหมอกควัน ซึ่งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 4 พันล้านบาท (ข้อมูลจาก ม.เชียงใหม่)

           ​​ดร. วิวัฒน์ กล่าวว่า  ​ปัญหาหมอกควันจากการเผาซังข้าวโพดเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งมาตรการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการในหลายปีที่ผ่านมา คือ การลดปริมาณตอซัง การประกาศ 60 วันห้ามเผา ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ถึง 20 เมษายน และมาตรการยั่งยืนโดยการเร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์ จัดระเบียบพื้นที่ป่าไม้กับชุมชน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ตามกลไกประชารัฐและอีกแนวทางหนึ่งที่สำคัญคือ การรณรงค์ให้เกษตรกรตระหนักถึงคุณค่าของ “ดิน” โมเดลดังกล่าวรู้จักกันในนาม “แม่แจ่มโมเดล”  

​            ทั้งนี้ ความสำเร็จของโครงการ “แม่แจ่มโมเดล” ในปี 2559 ถือเป็นครั้งแรกที่ฮอตสปอต (จุดวัดความร้อน) ที่แม่แจ่มต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์สามารถลดจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้หรือฮอตสปอตลงไปได้กว่า 90% จากที่เคยเกิดราว 240 จุด เหลือเพียง 9 จุด (ข้อมูล ณ วันที่ 29 มีนาคม 2559) สำหรับในปีนี้ได้ตั้งเป้าพัฒนา “คน” โดยกระบวนการ “เอามื้อสามัคคี” โดยการระดมจิตอาสาทุกภาคส่วนทั้ง รัฐ เอกชน ประชาชน ประชาสังคม ศาสนาและสื่อมวลชน เข้าร่วมลงมือทำไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นให้กำลังใจ โดยมุ่งปรับวิธีคิดของแกนนำชาวบ้านที่มีความสนใจและเยาวชนในระดับในโรงเรียนต้นแบบที่มีการจัดการเรียนการสอนเน้นการสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับผู้เรียนให้เรียนรู้การปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาทำทฤษฎีใหม่ประยุกต์ เป็นการบูรณาการศาสตร์ด้านต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ลงปฏิบัติจริงในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริง

        “ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริให้เราปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก เนื่องจากป่าโดยธรรมชาติเพียงแค่ไม่เข้ามาเผา หรือมารุกรานก็จะฟื้นตัวได้โดยตนเอง และเร็วกว่าการปลูกหลายเท่า  กระทรวงเกษตรฯ จึงสนับสนุนให้ประชาชนร่วมกันปลูกป่าในพื้นที่แม่แจ่ม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใหญ่มากและน่าเป็นห่วงที่สุด มีการเผาป่า เผาซังข้าวโพดมากเกือบแสนตัน อย่างไรก็ตาม การที่จะให้ชาวบ้านหยุดเผาซังข้าวโพด นั่นคือต้องสนับสนุนให้ชาวบ้านมีอาชีพ ต้องมีพอกิน พออยู่ พอใช้ โดยใช้ที่ดินของตนเก็บน้ำเก็บความสมบูรณ์ของดินเอาไว้ ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินจะเข้ามาให้คำแนะนำแก่เกษตรอย่างต่อเนื่อง เพราะหากดินและน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ ก็จะทำให้ได้ผลผลิตสูง ขายได้ราคาดีและน้ำก็จะไม่ท่วม ในวันนี้จึงได้ชักชวนชาวบ้านมาร่วมกันสามัคคีในการเปลี่ยนเปลือกให้เป็นปุ๋ย โดยบูรณาการร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ ทั้งนี้สิ่งสำคัญอยู่ที่ความสามัคคี หากสามัคคีกันมากก็สามารถหยุดการเผาตอซังได้มาก และหากหยุดที่นี่ได้ในส่วนพื้นที่อื่นๆก็ไม่น่าเป็นห่วงแล้ว” ดร. วิวัฒน์ กล่าว

           ด้านนายปราโมทย์ ยาใจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้รณรงค์ให้เกษตรกรนำซังข้าวโพดมาหมักทำปุ๋ยสูตรพระราชทานอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 5 ปี ได้รับการยอมรับจากเกษตรกรอย่างมาก และเป็นแนวทางที่จะช่วยลดปัญหาภัยพิบัติหมอกควันเนื่องจากการเผาซังข้าวโพด ประหยัดค่าขนส่งเพื่อนำซังข้าวโพดไปทิ้ง เกษตรกรสามารถประยุกต์ใช้ต้นข้าวโพดที่เก็บผลผลิตแล้ว หรือวัสดุอินทรีย์อื่นๆ ห่มคลุมดิน ราดรดด้วยน้ำหมักที่ทำจากวัสดุธรรมชาติรสจืด เช่น ต้นกล้วย ผักต่างๆ กับสารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 ของกรมพัฒนาที่ดิน ราดรดในอัตราส่วน 1:200 เพื่อเร่งอัตราการย่อยซังข้าวโพดให้เป็นปุ๋ย วิธีนี้จะช่วยฟื้นฟูดินได้จริง

            กิจกรรม “เปลี่ยนเปลือกให้เป็นปุ๋ย” เป็นกิจกรรมในโครงการคืนชีวิตให้แจ่ม กิจกรรมที่ 2 ต่อเนื่องจากโครงการ เอามื้อจอบแรก – รักเธอเสมอดาว ที่ดอยเสมอดาว จ.น่าน เพื่อให้ความรู้เกษตรกรและเครือข่ายผู้สนใจร่วมกันนำศาสตร์พระราชาที่ได้เรียนรู้ลงมือทำทันทีในพื้นที่โรงเรียน และขยายผลไปยังเกษตรกรผู้สนใจ หวังสร้างการขยายผลทั่วประเทศเตรียมตั้งกลไกความร่วมมือทุกภาคส่วนในพื้นที่สานต่อแม่แจ่มโมเดลหยุดปัญหาการชะล้างหน้าดินและหมอกควันเป็นต้นแบบการจัดการดินด้วยศาสตร์พระราชาที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

          ขณะที่ปัจจุบันปัญหาของพื้นที่ต้นน้ำยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ประสบกับปัญหาการพังทลายของหน้าดินและการสูญเสียหน้าดินสูง เนื่องจากภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงชันนอกจากนั้นยังประสบกับปัญหาการกัดเซาะของน้ำและลมตามธรรมชาติ การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่เหมาะสมและขาดความรู้ความเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อย่างถูกต้องจนเกิดการรุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยวมากขึ้น ผลกระทบที่เกิดจากการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ได้แก่ ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ไม่สามารถเพาะปลูกได้ดีเท่าเดิม เกิดร่องน้ำขึ้นเป็นจำนวนมาก ความชื้นในดินไม่สมดุลดินจะแห้งแล้งอย่างรวดเร็วทำให้ปริมาณจุลินทรีย์ในดินลดลงส่งผลทำให้ผลผลิตลดลง ต้นทุนเพิ่มขึ้นจนถึงทำให้เกิดอุทกภัยอย่างร้ายแรงนำมาสู่การที่รัฐต้องชดเชยเงินเป็นจำนวนมากให้กับเกษตรกร

[adrotate banner=”3″]

            ​ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสภาพแวดล้อมอีกประการคือ ปัญหาหมอกควัน จากการเผาทำลายซังข้าวโพดซึ่งมีปริมาณเป็นจำนวนมาก เฉพาะอำเภอแม่แจ่มพบว่ามีซังและเปลือกข้าวโพดรวมกันถึง 9,000 ตัน ผลกระทบเรื่องหมอกควันส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของคนทั้งภูมิภาค และสภาพแวดล้อมโดยรวมของประเทศ ซึ่ง​พื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีความตะหนักถึงปัญหาดังกล่าวและพยายามหานาทางเพื่อแก้ไขและลดปัญหาดังกล่าวให้เบาบางลง จึงริเริ่มโครงการ คืนชีวิตให้ “แจ่ม” ซึ่งเป็นโครงการที่จะน้อมนำศาสตร์พระราชาชมาส่งเสริมและให้ความรู้ เพื่อปลูกจิตสำนึกให้แก่ชุมชนทั้งเกษตรกร เยาวชนและคนในพื้นที่เพื่อให้คนอยู่กับป่า ให้ป่าอยู่กับคนได้อย่างยั่งยืน เพื่อชีวิตที่เป็นสุขและสังคมที่น่าอยู่ยิ่งๆ ขึ้นไป

             มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบการทำพื้นที่ทฤษฎีใหม่ประยุกต์บนพื้นที่สูง เพื่อการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า ตามศาสตร์พระราชา การหยุดปัญหาหมอกควันและลดการพังทลายของหน้าดิน ด้วยหลักกสิกรรมธรรมชาติการประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเกิดประสิทธิภาพสูง

        สำหรับพื้นที่เป้าหมาย คือ บ้านสองธาร ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม และโรงเรียนสาธิตชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า บ้านดอยสันเกี๋ยง ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ส่วนกลุ่มเป้าหมาย คือ แกนนำชาวบ้านที่มีความสนใจจะปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาทำทฤษฎีใหม่ประยุกต์และเยาวชนในระดับในโรงเรียนต้นแบบที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบ PBL (Project Base Learning) เน้นการสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับผู้เรียน โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี จำนวน ​500 คน