ผังน้ำ “ลุ่มน้ำชี – ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง” ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว กนช. สบช่องเสนอเพิ่มอีก 3 ลุ่มน้ำ สทนช. ยืนยันภายในปีนี้ครบ

  •  
  •  
  •  
  •  


ผังน้ำ “ลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง” ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ล่าสุด กนช. เสนอประกาศผังน้ำเพิ่มอีก 3 ลุ่มน้ำ ขณะที่ สทนช. เดินหน้าเร่งรัดจัดทำผังน้ำให้แล้วเสร็จครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำหลัก ภายในปี 2568 ยอมรับที่ผ่านมาล่าช้าเพราะสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะการระบาดของโรคโควิด-19 และต้องการให้ผังน้ำมีความสมบูรณ์ครอบคลุมทุกมิติ ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำผังน้ำว่า ล่าสุด ประกาศคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เรื่อง ผังน้ำลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง พ.ศ. 2568 และประกาศคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เรื่อง ผังน้ำลุ่มชี พ.ศ. 2568 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ในขณะเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568  ได้มีมติเห็นชอบประกาศผังน้ำเพิ่มเติม จำนวน 3 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย

ผังน้ำลุ่มน้ำสะแกกรัง ผังน้ำลุ่มน้ำวัง และผังน้ำลุ่มน้ำน่าน ก่อนที่จะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ทำให้ขณะนี้ สทนช. ได้จัดทำผังน้ำเสร็จไปแล้ว 5 ลุ่มน้ำ จากทั้งหมด 22 ลุ่มน้ำหลักทั่วประเทศ อีก 17 ลุ่มน้ำที่เหลือจะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 ตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ การจัดทำผังน้ำอาจจะล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ แม้ สทนช. ได้มีการติดตามเร่งรัดอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม แต่การศึกษาเพื่อจัดทำผังน้ำมีรายละเอียดการดำเนินงานค่อนข้างมากและมีความซับซ้อน ตั้งแต่การสำรวจและเก็บข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อง การรวบรวมจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิต่างๆ ผลการศึกษาที่ผ่านมาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อเสนอแนะ กฎหมาย และมาตรการต่างๆ ในการนำผังน้ำเพื่อไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ

นอกจากนี้ยังรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสภาพทางกายภาพ การใช้ประโยชน์ที่ดิน สภาพเศรษฐกิจ สังคม ประชากร การตั้งถิ่นฐาน การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ความเสียหายจากอุทกภัยที่ผ่านมาของพื้นที่ลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำสาขา ตลอดจนเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะทำการลงพื้นที่เพื่อสำรวจเก็บข้อมูลและจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เนื่องจาก สทนช. ต้องการให้ผังน้ำมีความสมบูรณ์แบบครอบคลุมทุกมิติ โดยได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่เกี่ยวข้อง ในทุกรูปแบบ

“การจัดทำผังน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำหลัก สทนช. ต้องการให้มีความสมบูรณ์ ครอบคลุมทุกมิติ ตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 แต่จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)ช่วงปี 2563–2565 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดทำผังน้ำ ทำให้เกิดความล่าช้า การลงพื้นที่ศึกษารายละเอียด การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่สามารถทำได้ในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะการจัดทำในกลุ่มที่ 1 (จำนวน 8 ลุ่มน้ำ) และกลุ่มที่ 2 (จำนวน 6 ลุ่มน้ำ)  แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคคลี่คลาย สทนช. จึงได้เร่งรัดการจัดทำผังน้ำเพื่อให้การดำเนินการใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้ให้ได้มากที่สุด” เลขาธิการ สทนช. กล่าว