สทนช. ถอดบทเรียนแผนรับมือฤดูฝนปี 67 เตรียมพร้อมตั้งรับปี 68 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤต แบบ Single Command

  •  
  •  
  •  
  •  

สทนช. จัดประชุมถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำและมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 ร่วมวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคจากทุกภาคส่วน สะท้อนผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เตรียมปรับแผนรับมือฤดูฝนปีนี้ หวังบูรณาการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤตอย่างเป็นเอกภาพ ในรูปแบบ Single Command เพิ่มประสิทธิภาพการคาดการณ์ กำหนดแผนเผชิญเหตุให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมเร่งสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายด้านน้ำ ป้องกัน Fake News

วันที่11 กุมภาพันธ์ 2568  ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำและมาตรการรับมือในช่วงฤดูฝน ปี 2567 โดยมี นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายเศวต เพชรนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นายศรณ์จักร์ชัย ชูวาพิทักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี นายวิทศักดิ์ จำเริญนุสิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก 4 กระทรวง 37 หน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการลุ่มน้ำและเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ นักวิชาการ ภาคประชาชน และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เข้าร่วม กว่า 250 คน ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถ.วิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์


ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล

ดร.สุรสีห์  กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมบูรณาการบริหารจัดการน้ำทั้งก่อนฤดู ระหว่างฤดู และสิ้นสุดฤดู โดยก่อนฤดูฝน ได้เตรียมการและสร้างการรับรู้ โดยการคาดการณ์ฝนและพายุ กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันเหตุการณ์ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการรับมือในช่วงฤดูฝน เสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการเตรียมความพร้อมรับมือเชิงป้องกัน รวมถึงการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนช่วงระหว่างฤดูฝน ได้วิเคราะห์ ติดตาม ประเมิน สภาพอากาศ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม  พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สถานการณ์และการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องตลอดฤดู และเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน ได้มีการประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูฝนที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงกลไกการแจ้งเตือนอุทกภัยในปีถัดไป

เลขาธิการ สทนช.  กล่าวอีกว่า ในวันนี้ ยังได้มีการรายงานผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 และการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในภาคต่างๆ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงรายและสุโขทัย ภาคกลาง ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ภาคตะวันออก ที่ จ.ระยอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.นครราชสีมา และภาคใต้ ที่ จ.ยะลา นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์ฯ ย่อยที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อบูรณาการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยงภัย รวมทั้งการจัดตั้งหน่วยติดตามสถานการณ์น้ำเคลื่อนที่หรือรถโมบายของ สทนช.และสถาบันสารเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ประจำจุดเสี่ยงล่วงหน้าในพื้นที่ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ข้อมูลและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งทุกศูนย์ได้ดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการสำรวจระบบระบายน้ำและความพร้อมของเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ รวมทั้งการทบทวนและปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง สามารถบรรเทาผลกระทบน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ แหล่งน้ำขนาดต่างๆ ยังสามารถกักเก็บน้ำหลากไว้ได้จำนวนมาก ทำให้มีปริมาณน้ำสำรองใช้อย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้

สำหรับปีนี้ประเทศไทยยังอยู่ในสถานการณ์ลานีญาที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว โดยกรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. คาดการณ์ว่า ภาพรวมในปี 2568 ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ และมีโอกาสเกิดฝนตกหนัก จึงอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้บางแห่ง รวมทั้งอาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงด้วย ดังนั้น การจัดประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำและมาตรการรับมือในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ในครั้งนี้ เพื่อจะได้นำข้อคิดเห็น ปัญหาและอุปสรรค และข้อคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนา ไปประกอบการจัดทำ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ที่มีความเข้มแข็งมากขึ้นพร้อมตั้งรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2568

ในส่วนของ สทนช. เองก็จะใช้จุดแข็งจากการใช้ผังน้ำที่จัดทำแล้วเสร็จเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การเสริมประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าที่จะต้องมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับคณะกรรมการลุ่มน้ำและองค์กรผู้ใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้ใช้น้ำในเรื่องขององค์ความรู้และเครือข่ายการประสานงานด้วย นอกจากนี้ การพัฒนาข้อมูลและความแม่นยำของระบบการแจ้งเตือนภัยที่ต้องเพิ่มความละเอียดในระดับพื้นที่ ซึ่งนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ในฐานะประธาน กนช. ได้กำชับให้ สทนช. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงการพัฒนาข้อมูล เพื่อให้การชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมล่วงหน้ามีความถูกต้องและแม่นยำมากที่สุด สอดคล้องกับแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ให้มากที่สุด ทั้งหมดนี้ เพื่อให้การบูรณาการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤตมีความเป็นเอกภาพในรูปแบบ Single Command หน่วยงานต่างๆ สามารถแก้ไขปัญหาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพแจ้งเตือนและการประชาสัมพันธ์

โดยเฉพาะการสื่อสารด้วยภาษาถิ่นเพื่อให้เข้าใจง่ายและสามารถเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด รวมทั้งเร่งสร้างการรับรู้และสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายด้านน้ำ เพื่อรับทราบและเข้าใจสถานการณ์น้ำ ลดความวิตกกังวลและเตรียมพร้อมรับมืออย่างถูกต้อง อีกทั้งเป็นเกราะป้องกันข่าวปลอม (Fake News) ให้กับสังคมด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย