กรมวิชาการเกษตร บุกจับโกดังวัตถุอันตรายเถื่อนที่โป่งน้ำร้อน ยึดของกลางมูลค่ากว่า 3 แสนบาท

  •  
  •  
  •  
  •  

ทีมหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบ้านแปลง บุกจับโกดังวัตถุอันตรายที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ยึดของกลางมูลค่ารวมกว่า 3 แสนบาท

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายสมชาย ฉันทพิริยะพูน ผู้อำนวยการกลุ่มควบคุมตามพระราชบัญญัติ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรีว่า ได้นำทีมพนักงานเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบ้านแปลง อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เข้าตรวจค้นภายในโกดังเก็บปัจจัยการผลิตทางการเกษตรแห่งหนึ่งในอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี

ผลจากการตรวจค้น พบวัตถุอันตรายที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าเป็นวัตถุอันตรายที่ไม่มีคุณภาพ จำนวน 6 รายการ ปริมาณรวม 984 ลิตร มูลค่ารวมกว่า 3 แสนบาท ซึ่งของกลางทั้งหมดได้ถูกยึดและอายัดไว้เพื่อตรวจสอบคุณภาพและดำเนินการแจ้งความเอาผิดดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป โดยในเบื้องต้นถือเป็นการกระทำความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ดังนั้นจึงขอย้ำเตือนเกษตรกรในการเลือกซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรให้ได้คุณภาพ ถือเป็นเรื่องสำคัญโดยเกษตรกรสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ด้วยตนเองจากการเลือกซื้อสินค้าที่ได้รับอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตร หรือร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการร้านค้าจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ (Q-shop) หรือเลือกซื้อจากร้านที่เชื่อถือได้ ไม่ซื้อจากรถเร่หรือพ่อค้าเร่ อ่านฉลากดูชื่อสามัญ ประโยชน์ วิธีใช้ก่อนตัดสินใจซื้อ

นอกจากนี้ให้ตรวจดูวันที่ผลิตไม่เกิน 2 ปี สภาพภาชนะบรรจุไม่เก่าหรือเสื่อม ตรวจดูภาชนะบรรจุไม่รั่วไหล ไม่แบ่งขายหรือถ่ายลงภาชนะอื่น ไม่ซื้อสินค้าที่ห้ามนำเข้า ห้ามผลิต หรือห้ามจำหน่าย เช่น พาราควอต คลอร์ไพริฟอส พาราไธออน ไดโครโตฟอส เมธามิโดฟอส เป็นต้น และที่สำคัญควรตรวจฉลากผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนดของกฎหมาย มีเลขทะเบียนถูกต้อง ชื่อการค้าเครื่องหมายการค้า สถานที่ผลิตของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ทั้งหมดนี้จะต้องมีบนบรรจุภัณฑ์ที่ชัดเจน

ด้านนายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กล่าวว่า สำหรับภาคตะวันออกมีร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตร จำนวน 1,792 ร้าน ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี จำนวน 788 ร้าน จากจำนวนร้านปัจจัยการผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออก จำนวน 2,209 ร้าน และเป็นร้านที่ตั้งอยู่จังหวัดจันทบุรี จำนวน 814 ร้าน โดยในจำนวนนี้มีร้านค้าที่ได้รับการรับรองการจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ (Q-Shop) ในภาคตะวันออก จำนวน 161 ร้าน และตั้งอยู่จังหวัดจันทบุรี จำนวน 49 ร้าน