ชาวอีสานได้เฮ!! ก.เกษตรฯทุ่มพัฒนาแหล่งน้ำ 2,774 แห่ง เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 14.4 ล้านไร่

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                              ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์

เกษตรกรชาวภาคอีสานได้เฮ รมว.เกษตรฯพูดชัดเจนบนสัมนา “ISAN NEXT” พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ชูนโยบาย ดินดี น้ำดี บริหารจัดการดี ชาวอีสานมีรายได้เพิ่มขึ้น ระบุแผนพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน ปี 2568 – 2580 มี 2,774 แห่ง สามารถเพิ่มความจุได้อีก 1,708 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานเพื่อการเกษตรอีก 14.4 ล้านไร่ และมีครัวเรือนได้รับประโยชน์ 946,738 ครัวเรือน

วันที่ 20 ธันวาคม 2567 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมบรรยายพิเศษ เรื่อง ดิน น้ำ เส้นเลือดใหญ่เกษตรกรอีสาน ในงานสัมนา “ISAN NEXT” พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ณ หอประชุมราชภัฏรังสฤษฏ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จ.นครราชสีมา เพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคอีสาน ที่จะมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต

ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า ภาคอีสานเป็นภาคที่มีเนื้อที่ทางการเกษตรมากที่สุดของประเทศ โดยมีเนื้อที่ทางการเกษตร 64.29 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.52 ของเนื้อที่ทางการเกษตรทั้งหมดของประเทศ 147.73 ล้านไร่ มีสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอื่น ๆ ตามลำดับ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภาค (GDP) มูลค่าประมาณ 1.76 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของ GDP ทั้งประเทศ โดยภาคอีสานมีสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการเกษตรถึงน้อยละ 24 ของ GDP ภาคการเกษตรทั้งประเทศ มีมูลค่าประมาณ 3.63 แสนล้านบาท โดยจังหวัดที่มีมูลค่าการผลิตภาคการเกษตรสูงสุด คือ นครราชสีมา บึงกาฬ อุบลราชธานี อุดรธานี และบุรีรัมย์ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาคอีสานยังคงมีการผลิตพืชชนิดเดิม ทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหรัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้ทรัพยากรดินเสื่อมโทรม และพบว่าภาคอีสานมีปัญหาดินที่ไม่เก็บความชื้น ทำให้ปลูกพืชได้เฉพาะฤดูฝน รวมถึงมีการใช้สารเคมี ทำให้ลดความสมดุลของดินและทำให้ดินเสื่อมสภาพ จึงต้องมีการพัฒนาคุณภาพดินให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดิน มีหมอดินอาสาทั่วประเทศไปเผยแพร่ความรู้ให้แก่พี่น้องเกษตรกร

สำหรับสินค้าเกษตรบางชนิดมีการเติมโตแบบก้าวกระโดด เช่น ทุเรียน โคเนื้อ และเงาะ เป็นต้น กระทรวงเกษตรฯ ต้องมีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงพาณิชย์ ในขณะเดียวกันก็จะต้องทำการตลาดให้มากยิ่งขึ้นด้วย โดยกระทรวงเกษตรฯ มีฑูตเกษตรที่ประจำประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะต้องมีการส่งเสริมด้านการส่งออกให้มากยิ่งขึ้น และคาดว่าปีหน้าจะสามารถส่งโคเนื้อและโคมีชีวิตไปจีนได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชที่มีโอกาสและมีมูลค่าสูงมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกมว่า ปัญหาสำคัญคือ หลายพื้นที่ในภาคอีสานประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ระบบกระจายน้ำยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่มีศักยภาพทางการเกษตร และที่สำคัญคือภาคอีสานสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้เพียงร้อยละ 27 ของปริมาณน้ำท่าทั้งหมด อีกทั้งการทำการเกษตรยังต้องพึ่งพาแหล่งน้ำธรรมชาติ (ฟ้า ฝน) เป็นหลัก และจากความผันผวนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ภาคอีสานมีปริมาณฝนรายปีลดลง  กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้มีการบรรจุแผนพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน ปี 2568 – 2580 จำนวน 2,774 แห่ง ซึ่งจะสามารถเพิ่มความจุได้อีก 1,708 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 14.4 ล้านไร่ และมีครัวเรือนได้รับประโยชน์ 946,738 ครัวเรือน

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯยังพร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์กับการค้าสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และแหล่งท่องเที่ยว อาหาร และวัฒนธรรมที่สะท้อนถึง Soft Power ภาคอีสาน ผสมผสานกับความต้องการของผู้บริโภค ที่จะป็นการสร้างโอกาสและความท้าทายของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมพัฒนาดินและน้ำ เสริมพลังเกษตรไทยด้วยการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กและระบบชลประทาน การยกระดับการพัฒนาพื้นที่ภาคอีสาน และการบริหารจัดการเชิงรุกตามแผนที่เกษตร (Agri-Map) ด้วย