สทนช. เฝ้าระวังอุทกภัย – ดินโคลนถล่ม ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พร้อมรับมือฝนตกหนักถึงสิ้นเดือน ต.ค. นี้

  •  
  •  
  •  
  •  
สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยและดินโคลนถล่มในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตามที่ได้รับมอบหมายจาก “รองนายกฯ ประเสริฐ” คาดฝนตกหนักในพื้นที่ถึงช่วงสิ้นเดือน ต.ค. นี้ ก่อนจะตกน้อยลงแต่ต่อเนื่องไปจนถึงสัปดาห์แรกของเดือน พ.ย. 67
วันที่ 26 ตุลาคม 256) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมเตรียมการรองรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมมุกอันดา ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ดร.สุรสีห์ เปิดเผยว่า สทนช. ได้ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมรับมือสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่ม ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีความห่วงใยสถานการณ์น้ำจังหวัดภูเก็ตที่มีแนวโน้มมีปริมาณฝนมากในระยะนี้ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) คาดการณ์ว่า ตั้งแต่วันนี้จนถึงช่วงสิ้นเดือน ต.ค. 67 จะมีฝนตกค่อนข้างมากในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
                                                                      ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล
จากนั้นปริมาณฝนจะลดลงแต่ยังคงตกต่อเนื่องไปจนถึงช่วงสัปดาห์แรกของเดือน พ.ย. 67 ทั้งนี้ ปัจจุบันภาพรวมของจังหวัดภูเก็ตมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่าง ๆ ค่อนข้างมาก โดยมีปริมาณ 94% ของความจุทั้งหมด โดยกรมชลประทานได้ระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำออกจากอ่างฯ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังคงเน้นย้ำให้กรมชลประทานติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ของอ่างฯ แต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอ่างฯ บางวาดซึ่งมีปริมาณน้ำ 95% ของความจุ ซึ่งได้มีการลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์วานนี้ (25 ต.ค. 67) โดยมอบหมายให้มีการประเมินสถานการณ์และปรับแผนการระบายน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับปริมาณฝนช่วงต่อจากนี้ พร้อมทั้งคำนึงถึงการกักเก็บน้ำต้นทุนสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งและสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดด้วย
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการเตรียมรับมือปัญหาดินโคลนถล่มเนื่องจากฝนตกหนัก ซึ่ง สทนช. ได้คาดการณ์พื้นเสี่ยงดินโคลนถล่มของจังหวัดภูเก็ตจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 67 ได้แก่ บริเวณตำบลราไวย์ กะรน เชิงทะเล และกมลา ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยจะมีการประสานงานร่วมกับจังหวัดเพื่อแจ้งเตือนประชาชน โดยจังหวัดภูเก็ตได้มีการเตรียมความพร้อมในการติดตั้งเครื่องมือและระบบสื่อสารต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องทางในการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
นอกจากนี้ วานนี้ยังได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสำรวจพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณเทศบาลตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต ซึ่งเคยเกิดเหตุดินโคลนถล่มเมื่อช่วงเดือน ส.ค. 67 ซึ่งแม้ว่าขณะนี้จะไม่มีผู้พักอยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว แต่ได้มอบหมายให้มีการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนปิดเส้นทางสัญจรชั่วคราวในช่วงที่มีความเสี่ยงเพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชนด้วย และสำหรับในระยะยาว กรมทรัพยากรธรณีได้อยู่ระหว่างการเสนอแผนเพื่อขอรับงบประมาณในการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพรับมือกับปัญหาดินโคลนถล่ม เร่งลดผลกระทบให้ประชาชน
“การบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมืออุทกภัยในช่วงฤดูฝนของภาคใต้ปีนี้ จะเป็นการดำเนินงานร่วมกันโดยเชื่อมโยงระหว่างศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ณ จังหวัดยะลา และคณะกรรมการลุ่มน้ำในลุ่มน้ำของภาคใต้ เพื่อให้สามารถป้องกันและลดผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยจะมีการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ควบคู่ไปกับการกักเก็บน้ำเพื่อเป็นน้ำต้นทุนไว้ใช้ให้เพียงพอในช่วงหลังสิ้นฤดูฝนด้วย นอกจากนี้ สทนช. จะเร่งขับเคลื่อนให้เกิดความมั่นคงน้ำอย่างยั่งยืนในจังหวัดภูเก็ต เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำของประชาชน รวมทั้งช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว