ประธาน กมธ.ทรัพย์ฯสว.นำคณะติดตามความคืบหน้าโรงงานเคมีภัณฑ์เครื่องสำอางระเบิดที่ปราจีนบุรี พร้อมแนะให้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง-หาทางเยียวยาด่วน

  •  
  •  
  •  
  •  

ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา “ชีวะภาพ ชีวะธรรม” นำคณะลงพื้นที่ ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาโรงงานผลิตสารเคมีภัณฑ์เครื่องสำอางระเบิดที่ปราจีนบุรี ทำให้เกิดสารเคมีรั่วไหลกระทบชุมชนโดยรอบ ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม ผ่านมา พร้อมเสนอให้จังหวัดปราจีนฯตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและวางแนวทางเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างครอบคลุม และเป็นธรรม 

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้นำคณะลงพื้นที่ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเหตุระเบิดภายในโรงงานผลิตสารเคมีภัณฑ์เครื่องสำอาง ที่ส่งผลให้เกิดสารเคมีรั่วไหลกระทบชุมชนโดยรอบ ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีนายชนาธิป โคกมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ให้การต้อนรับ

ในการรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย อำเภอศรีมหาโพธิ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าตูม สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด สวนอุตสาหกรรม304 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานmรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 7 (สระบุรี) รวมถึงตัวแทนจากบริษัท เอชเอสเอ็มที นิว แมทที่เรียล เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ผู้ประกอบการโรงงานที่เกิดเหตุ และตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

จากการสรุปข้อมูลพบว่า โรงงานดังกล่าวประกอบกิจการส่งออกสารเคมีภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยใช้สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ สารอะคริโลไนไตรล์ (acrylonitrile) สารซัลฟิวริก (Sulfuric acid) และ สารเมควินอล (4-methoxyphenol) ด้วยการผลิตสารเคมีอุตสาหกรรม แบบโมโนเมอร์อะคริลิกกรดซัลโฟนิก หรือ AMPS

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้ตั้งข้อสังเกตใน 5 ประเด็นหลัก 1. ระบบการเตือนภัยของโรงงานที่ล่าช้า 2. การออกแบบระบบการผลิตได้มาตรฐานตามที่รับรองและตรงตามใบอนุญาตประกอบกิจการหรือไม่ 3. การใช้แรงงานต่างด้าวในโรงงานเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นการสื่อสารที่อาจเป็นปัญหา เนื่องจากผู้ประกอบการเป็นชาวจีนและใช้แรงงานส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาร์ 4. ข้อมูลจากหน่วยงานในพื้นที่อาจยังไม่สอดคล้องกับข้อมูลจากชุมชน โดยเฉพาะตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบ และการวัดค่าสภาพอากาศและน้ำที่มีผลกระทบต่อชุมชน และ 5. การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

ภายหลังการประชุม คณะกรรมาธิการมีข้อเสนอให้จังหวัดปราจีนบุรีตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและวางแนวทางเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างครอบคลุม เพื่อความเป็นธรรม จากนั้นในช่วงบ่ายคณะกรรมาธิการฯได้มีการลงพื้นที่บริษัท เอชเอสเอ็มที นิว แมทที่เรียล เทคโนโลยี (ประเทศไทย)

เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และรับฟังเสียงสะท้อนปัญหาจากตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่หมู่ 4 บ้านหัวโล่ ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ที่เข้ายื่นร้องเรียนขอคัดค้านการเปิดโรงงาน และขอให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและตรวจสอบโรงงานด้วย ขณะที่หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ ระบุว่าไม่ได้รับการเยียวยาจากโรงงานที่ก่อความเสียหาย โดยมีอาการแสบตา ตาแดงบวมหายใจไม่ออกและอาเจียน ต้องรักษาตัวถึง 4 วันซึ่ง กระทบต่อการดำรงชีพประจำวัน.