ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรญนั่วหัวโต๊ะประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เผยล่าสุดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 61,487 ล้าน ลบ.ม. หรือ 81% ของความจุอ่างฯ รวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 14,873 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำรวม 83%
วันที่ 15 ตุลาคม 2567 ผศ.ดร.สิตางศ์ พิสัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำกู กรมชลประทาน ถนนสามเสน และผ่านระบบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และและแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ในที่ประชุมได้มีการรายงานถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน(15 ต.ค.67) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 61,487 ล้าน ลบ.ม. (81% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 14,873 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 20,622 ล้าน ลบ.ม. (83% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 4,200 ล้าน ลบ.ม. คาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน ณ วันที่ 1 พ.ย. 67 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ จะมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 33,417 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากว่าปีที่ผ่านมา(ปี 2566) ในช่วงเวลาเดียวกันถึง 568 ล้าน ลบ.ม.
ด้านสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ส่วนใหญ่มีแนวโน้มลด ส่งผลให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ กรมชลประทาน ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า พื้นที่ตอนบนของประเทศบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภาคกลาง ปริมาณฝนจะเริ่มลดลง จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ดังกล่าว วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่ไปกับกับการเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนนี้ให้ได้มากที่สุด ส่วนในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างให้วางแผนรับน้ำเข้าระบบชลประทาน เพื่อเก็บกักไว้ให้เกษตรกรได้ใช้ในการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง
สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ จะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เตรียมจัดเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ เข้าประจำจุดเสี่ยง ตลอดจนตรวจสอบอาคารชลประทานให้ใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปโดยสะดวก สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์