กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา พร้อมผลักดันร่าง พ.ร.บ.ที่ดินลาดชัน และเพิ่มอุปกรณ์แจ้งเตือนภัยในพื้นที่ป่าชุมชน เพื่อแก้ปัญหาดินโคลนถล่มรวมถึงอุทกภัยในระยะยาว เผยปัจจัยเกิดจากปริมาณน้ำฝน ตกเกินค่าเฉลี่ยจำนวนมาก ลักษณะของดิน ต้นไม้ถูกตัดโค่ จำนวนป่าหายไป และฝีมือของมนุษย์
นายชีวะภาพ ชีวะธรรม สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวภายหลังการประชุม เพื่อพิจารณาศึกษากรณีภาวะน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง ประกอบด้วย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช , กรมทรัพยากรธรณี , กรมอุตุนิยมวิทยา , นักวิชาการจากคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 8 ต.ค.67 ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานสาเหตุดินโคลนและน้ำป่าไหลหลาก เกิดจากหลายปัจจัยคือ 1 ปริมาณน้ำฝน ตกเกินค่าเฉลี่ยจำนวนมาก 2 ลักษณะของดิน ( ธรณีสัณฐาน ) 3.ต้นไม้ถูกตัดโค่น จำนวนป่าหายไป 4.ฝีมือมนุษย์
“บริเวณที่เกิดดินโคลนถล่ม เกือบ 100% มาจากแล้วมือมนุษย์ ตั้งแต่ การตัดเส้นทางเข้าไป อย่างกรณีดินโคลนถล่มที่อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ก็เกิดจากการตัดถนน โดยไม่มีการวางแผนและควบคุมการไหลของน้ำ ไม่ได้ออกแบบตามหลักวิศวกรรม” นายชีวะภาพ และว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จะต้องมีความแปรปรวน ปีหน้าอาจ จะหนักกว่านี้ ดังนั้นจึงต้องมีการ เตรียมการวางแผนและทำบันทึกความตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการชุดนี้ได้มีข้อสรุปตามที่ 4 หน่วยงานมาชี้แจงดังนี้ 1 ผลักดันร่าง พ.ร.บ. การใช้พื้นที่สูงชัน-ลาดชัน เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เสี่ยงภัย. 2 ศึกษาและวางแผนการใช้พื้นที่ให้เหมาะสม, 3 ติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝนและระบบแจ้งเตือนภัย เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน. และ 4 จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาออกแบบการใช้พื้นที่ เพื่อวางแผนการใช้พื้นที่ในชุมชนบนภูเขาอย่างเหมาะสมและปลอดภัย