“มะไฟกา” ไม้ผลโบราณที่หายาก รสเปรี้ยวสะใจ มีสรรพคุณเป็นยาหลายอย่าง

  •  
  •  
  •  
  •  

นายสวีสอง

สมัยเด็กๆ ตอนอยู่พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยเห็น “มะไฟกา” แต่จะเรียกว่า “มะไฟป่า” บ้างก็ว่า “มะไฟแดง” เป็นพรรณไม้ยืนต้นที่พบขึ้นอยู่ตามป่า ตามธรรมชาติ ผลสุกกินได้ รสเปรี้ยวอมหวาน เคยนำไปต้มปลากระบอกแทยใบชะมวง ก็อร่อยดี ผลอ่อนใช้เป็นผักใส่ในแกงคั่ว เปลือกผลสุกที่เป็นสีแดงยำกับกุ้งแห้งก็อร่อยดี ที่สำคัญมีวิตามินซีสูง

มีสรรพคุณทางสมุนไพรด้วย ช่วยขับเสมหะ รักษาอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ ส่วนรากแก้พิษตานซาง แก้วัญโรค  ดับพิษร้อนและเริม  นอกจากนี้ลดอาการอักเสบ

วันก่อนไปที่ “สวนบุญบันดาล” ของคุณบุลือ สุขเกษม  ซึ่งปลูกมะไฟ “ทองสยาม” อยู่ราวๆ 400 ต้น ระหว่างทางเข้าสวนมี มะไฟกา อยู่ด้วย 1 ต้น

มะไฟกา  มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า  Baccaurea parviflora อยู่ในวงศ์ Baccarea เป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มขนาดกลาง เปลือกต้นแตกเป็นขรุขระสีน้ำตาล ใบเดี่ยว ออกรวมเป็นกลุ่ม รูปทรงรี ส่วน ดอกออกที่ลำต้นและปลายกิ่งเป็นช่อ ดอกแยกเพศแยกต้น ดอกตัวผู้มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ มีขนสีขาวปกคลุม ดอกตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่า ขณะที่ผล ทรงกลม ออกเป็นพวงเปลือกหุ้มเหนียวและหนา แก่แล้วผลเป็นสีแดงแกมม่วง เนื้อหุ้มเมล็ดสีเหลืองอ่อน รสเปรี้ยว เมล็ดกลมแบน

ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง หรือเสียบยอดก็ได้