นายสวีสอง
ภาพนี้จาก : องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูง
วันก่อนไปที่จังหวัดเชียงราย สั่งลาบปลาแบบเหนือ ในจานผักเหนาะ มีผักหลายชนิด บางชนิดไม่เคยเห็น และไม่เคยรับประทานมาก่อน อย่าง “ผักเผ็ด” กินครั้งแรกช่างเผ็ดเหลือเกิน เผ็ดแบบจี๊ดสะท้านทรวง รู้สึกซาบซ่าไปทั่วช่องปาก และจะมีความรู้สึกแบบชาคล้ายๆกับหม่าล่า มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก วิตามินเอ บี 1 วิตามินซี คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน
สอบถามเจ้าของร้าน หล่อนบอกว่า เป็นผักเผ็ด เป็นพืชผักของถิ่นล้านนา กินเป็นผักเหราะ จิ้มน้ำพริก(แบบเผ็ดเจอเผ็ด) กินกับลาบ ลู่ ก้อย จะอร่อยมาก ด้วยรสเผ็ดชา หล่อนบอกว่าคนเหมือนโบราณหากมีอาการปวดฟัน ตำผสมเหล้าอมไว้ในปากแก้ปวดฟัน บางจะเคี้ยวกลบบริเวณฟันที่ปวดจะบรรเทาได้ดี เพราะมีความรู้สึกชา
บางตำรา ระบุว่า “ผักเผ็ด” มีสรรพคุณทางสมุนไพร แก้ริดสีดวง แก้พิษตามทวาร แก้เด็กตัวร้อน แก้ผอมเหลือง ต้นสดตำผสมเหล้า หรือน้ำส้มสายชู อมแก้แก้ไข้แก้ปวดฟัน แก้ฝีในคอ ต่อมน้ำลายอักเสบ นอกจากนี้ ช่วยเจริญอาหาร ช่วยขับลม ช่วยย่อยอาหารได้ ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน ชาวจีนใช้สกัดเป็นยาชาเป็นต้น
“ผักเผ็ด”บ้างก็ว่า หญ้าตุ้มหู ผักคราด หรือผักคราดหัวแหวน เป็นพืชล้มลุก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acmella oleracea (L. ) R.K.Jansen อยู่ในวงศ์ COMPOSITAE ลำต้นกลมอวบน้ำ ทอดตามดินราว 20-30 ซม.ปลายยอดชูขึ้น มีสีเขียวม่วงแดงปนเข้ม ต้นอ่อนมีขนปกคลุมเล็กน้อย
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามตามลำต้น เป็นรูปสามเหลี่ยม ก้านใบยาว โดนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก ผิวใบสากกว้างราว 3-4 ซฒ. ยาว 3-6 ซม.
ดอก ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง เป็นช่อกระจุกทรงกลมปลายแหลม คล้ายหัวแหวนสีเหลือง มีดอกย่อยมี 2 วง วงนอกเป็นตัวเมีย วงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ
ผล เป็นผลแห้ง รูปไข่
การขยายพันธุ์ ทั้งใช้เมล็ด ปักชำมีรากออกตามข้อ สามารถเก็บส่วนขยายพันธุ์ได้ตลอดปี