“เห็นเพื่อนบ้านทำสวนมังคุดมีกำไรทุกปี อยากทำมีเงินอย่างเขา ถามเทคนิคสูตรให้ปุ๋ย เราทำตามทุกอย่าง แต่กลับได้ไม่เหมือนเขา ยิ่งทำยิ่งลงทุนมากทั้งค่าปุ๋ยค่ายา ผลผลิตที่ได้ไม่คุ้มทุน” สมชาย บุญก่อเกื้อ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง ฟื้นความหลังถึงปัญหาที่ตัวเองประสบมา…หลังขบคิดปัญหาอยู่นาน หาสาเหตุไม่เจอ ตัดสินใจทิ้งงานในสวน ยอมเสียเวลาเข้าร่วมอบรมกับทางจังหวัด ถึงได้รู้ …ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ปุ๋ยยา หรือเงินทุนไม่พอ จะให้ได้ผลดี ต้องรู้จักดินในสวนของตัวเองเสียก่อน แต่ละจุดเป็นยังไง…นี่แหละปัญหาใกล้ตัว ที่เกษตรกรมักจะมองข้าม ไม่เห็นความสำคัญ
“พื้นที่สวน 23 ไร่ สภาพดินมีทั้งที่ลุ่ม ที่ดอน และที่หล่มในแปลงเดียว ค่าดินจึงไม่เหมือนกัน มีธาตุอาหารแค่ไหน ตรงกับความต้องการของต้นไม้หรือเปล่า เราไม่เคยรู้ เพราะทำตามคนอื่นตลอด หลังอบรมจึงนำดินแต่ละแปลงไปตรวจวิเคราะห์ ดินส่วนใหญ่เป็นกรด มีค่า pH 4.5 ต้องปรับสภาพโครงสร้างดินชุดใหญ่” ดินหล่ม ฝนตกปริมาณน้ำมาก จะเป็นเทือกโคลน รากต้นไม้เน่า จะขุดยกร่อง ทำทางระบายน้ำออกไม่ให้ท่วมขัง …ดินลุ่ม ปรับพื้นชักร่องระบายน้ำให้ไหลไปรวมลงบ่อที่ขุดไว้กลางสวน เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง…ดินดอน ยกร่องไม่ต้องลึกมาก เป็นแนวยาว เพื่อกั้นน้ำให้ไหลช้า หน้าดินจะได้ไม่ถูกชะเวลาฝนตกหนัก
หลังปรับสภาพพื้นที่ทั้ง 3 ประเภท นำปุ๋ยหมักธรรมชาติ สูตรปุ๋ยจะมีมูลไก่ กากมันสำปะหลัง หินฟอสเฟต เปลือกข้าวโพด และ พด.1 สูตรนี้ช่วยให้ผลไม้รสชาติหวาน ใส่รอบๆโคน 25 กก. ต่อต้น…ส่วนปุ๋ยเคมียังต้องใช้บ้างแต่ลดปริมาณลง จากนั้นเริ่มคัดเอาต้นมังคุดที่ไม่สมบูรณ์ ผลผลิตไม่ดีออกเหลือไว้ 5 ไร่ …อีก 3 ไร่เอาทุเรียนมาปลูกแซมในพื้นที่ให้เหมาะกับทุเรียน…ที่เหลืออีก 11 ไร่ สังเกตเห็นกระท้อนให้ผลผลิตดีที่สุด จึงโค่นมะม่วง ลองกอง สละ มะปราง ออก เพื่อปลูกกระท้อนทั้งหมด ปลูกแบบสวนผสม เผื่อผลไม้ชนิดไหนราคาตก ยังมีอีกชนิดช่วยพยุงรายได้
“มังคุดเริ่มออกดอก ขอข้อมูลเกษตรจังหวัดมาวิเคราะห์คาดคะเนผลผลิตทั้งจังหวัดว่า จะออกสู่ตลาดช่วงไหน แล้วติดต่อผู้ซื้อล่วงหน้า หาตลาดรับซื้อกระจายผลผลิต เราจะรวบรวมผลผลิตจากชาวสวนในหมู่บ้านซื้อขายแบบกลุ่ม ผ่าน ผู้ส่งออกให้เข้ามารับซื้อ”
ส่วนตลาดในประเทศจะให้คนรุ่นใหม่ (ลูก) ดูแล ขายผ่านระบบออนไลน์ ทำมาได้หลายปีไม่เคยมีปัญหา การวางแผนแบบนี้ นอกจากมังคุดของกลุ่มไม่เคยมีปัญหาขายเหมาสวนยกเข่ง ยังต้องสั่งจองล่วงหน้า ผิดจากเมื่อก่อน พ่อค้ากำหนดราคารับซื้อ…เดี๋ยวนี้ชาวสวนเป็นผู้ตั้งราคาขายได้เอง
ปีที่ผ่านมา สมชายมีรายได้จากมังคุด 100,000 บาท กระท้อนอีก 600,000 บาท ส่วนทุเรียนเพิ่งจะเริ่มติดลูกในปีนี้…มีแววรุ่ง เพราะรู้จักดินของตัวเอง.
ที่มา : ไทยรัฐ : เพ็ญพิชญา เตียว : อ่านเพิ่มเติม : https://www.thairath.co.th/content/1299989