เมื่อผลไม้ไทยฟีเวอร์

  •  
  •  
  •  
  •  

คอลัมน์ แตกประเด็รนฟีเวอ

โดย ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม

เรียกเสียงฮือฮากันไปไม่น้อยครับ สำหรับกระแสทุเรียนฟีเวอร์ในหมู่นักกินชาวจีน ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้พากันแห่ซื้อทุเรียน 80,000 ลูกภายใน1 นาที ผ่านทางเว็บไซต์ Tmall.com เครืออาลีบาบา ขณะที่บรรยากาศในประเทศเองก็คึกคัก นักท่องเที่ยวเข้าแถวต่อคิวกินบุฟเฟต์ผลไม้ตามสวนต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

เป็นเรื่องน่ายินดี ที่ผลไม้ของไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นสินค้าดี มีคุณภาพ ระดับพรีเมี่ยม โดยพื้นที่ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี ระยอง และตราด มีความสำคัญค่อนข้างมาก เป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง และลำไย เป็นต้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ภาครัฐเองก็เห็นชอบในหลักการโครงการจัดตั้ง ระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) โดยมีเป้าหมายให้ภาคตะวันออกเป็นตลาดกลางประมูลผลไม้คุณภาพสูงทั้งยังเห็นชอบผลักดันประเทศไทยเป็นมหานครผลไม้เมืองร้อนของโลก มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจรรองรับอีกด้วย

ในภาพรวมอุตสาหกรรมผลไม้ของไทยนับว่าสร้างรายได้ให้ประเทศนับแสนล้านบาทต่อปี นอกจากการส่งออกเป็นผลไม้สดเกรดพรีเมี่ยมไปจำหน่ายต่างประเทศแล้ว ผลไม้ส่วนที่เหลือจากความต้องการหรือเป็นเกรดรองลงมา สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นสินค้าแปรรูปต่าง ๆ

สำหรับท่านที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมผลไม้ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ผมอยากให้เปิดใจยอมรับแนวคิดในการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงเครือข่ายอุตสาหกรรม (cluster) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพราะคลัสเตอร์เป็นเสมือนเครื่องมือและกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ

การรวมกลุ่มคลัสเตอร์ ย่อมมีพลังและอำนาจ ผมเชื่ออย่างนั้น อย่างน้อยก็เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิต และการบริหารจัดการ เกิดการพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรม เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ของสมาชิก เกิดการขยายตลาดสู่ระดับประเทศและต่างประเทศ เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพของบุคลากรร่วมกัน เกิดความสามารถในการจัดซื้อ จัดหาวัตถุดิบได้ในราคาถูกลง เกิดการขยายตัวด้านการค้า การลงทุน ของสมาชิก เพิ่มขีดความสามารถ และศักยภาพในการแข่งขันโดยรวม

กล่าวเฉพาะอุตสาหกรรม มะพร้าวและ กล้วย ที่สถาบันอาหารได้เข้าไปมีส่วนร่วม โดยได้รับมอบหมายจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มและพัฒนาเครือข่ายหรือคลัสเตอร์ ในปี 2561 นี้ ตั้งเป้ารวบรวมสมาชิกทั้งมะพร้าวและกล้วยให้ได้ 17 เครือข่าย จำนวน 2,300 ราย แบ่งเป็นกลุ่มมะพร้าว10 เครือข่าย จำนวน 1,350 ราย และกล้วย 7 เครือข่าย จำนวน 950 ราย โดยมะพร้าวดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เน้นเพิ่มพื้นที่ปลูกใหม่ และพัฒนาผลิตภัณฑ์

ส่วนกลุ่มเครือข่ายกล้วย ได้เริ่มดำเนินการเป็นปีแรก จะเข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกกล้วย รักษาคุณภาพผลผลิตตามมาตรฐานการส่งออก การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเก็บรักษา การยืดอายุ การดูแลบรรจุภัณฑ์ และการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม

นาทีนี้ ผลไม้ไทยกำลังเนื้อหอมไปทั่วโลก ภาครัฐเองก็เร่งให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมผลไม้ในทุกมิติเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตผลไม้ไทยทั้งผลสดและแปรรูป รวมทั้งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การขนส่ง การจัดเก็บ ห้องเย็น รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม

ด้านผู้ประกอบการเองก็ควรเตรียมตัวให้พร้อมในทุกมิติเช่นเดียวกัน ผมเชื่อว่าการรวมกลุ่มและพัฒนาเครือข่ายในอุตสาหกรรมของตนเองโดยมีภาครัฐเป็นพี่เลี้ยงจะช่วยให้พวกท่านสามารถยืนหยัดและอยู่รอดได้แน่นอนครับ

ที่มา :ประชาชาติธุรกิจ : https://www.prachachat.net/economy/news-168231