ชัดเจน!! ปลานิลกับปลาหมอคางดำ ไม่ผสมข้ามสายพันธุ์กัน

  •  
  •  
  •  
  •  

อธิบดีกรมประมงชี้แจงชัดเจน ปลานิลกับปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่อยู่คนละสกุลไม่ผสมข้ามสายพันธุ์กัน มีลักษณะหน้าตามแตกต่างกัน เผยผลการทดลองปล่อยปลา 3 สายพันธุ์ในบ่อเดียวกัน “ปลานิล-ปลาหมอคางดำ- ปลาหมอเทศ” ไม่มีการผสมข้ามพันธุ์กันและพบว่าปลานิลแสดงความก้าวร้าวไล่กัดปลาคางดำด้วย

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ชี้แจงถึงกรณีพบปลาที่มีลักษณะผสมกันระหว่าง ปลาหมอคางดำ กับ ปลานิล ที่วังกุ้งใน จ.สมุทรปราการคือ ข้อสงสัยที่เป็นลูกผสมระหว่างปลานิลกับปลาหมอคางดำตามที่เป็นข่าวว่า ปลานิล หรือ Nile tilapia (Oreochromis niloticus) ส่วนปลาหมอคางดำ หรือ Blackchin tilapia (Sarotherodon melanotheron) เป็นปลาที่อยู่คนละสกุล (genus) ซึ่งลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ ปลานิลจะมีแก้มและตัวสีคล้ายกัน หางมนและมีลายเส้น ส่วนปลาหมอคางดำ ใต้คางจะมีจุดสีดำ หางเว้า และไม่มีลวดลายอีกทั้งพฤติกรรมการฟักไข่และดูแลลูกปลาก็มีความแตกต่างกันด้วย โดยในปลานิล ปลาเพศเมียมีพฤติกรรมดูแลไข่และตัวอ่อนส่วนในปลาหมอคางดำ ปลาเพศผู้มีพฤติกรรมดูแลไข่และตัวอ่อน จากความแตกต่างทางชีววิทยาดังกล่าวข้างต้น ทำให้ในธรรมชาติปลาทั้งสองชนิดจะไม่ผสมข้ามพันธุ์

ภาพที่มีการเสนอข่าว

ดังนั้น ความน่าจะเป็นในการเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ในธรรมชาติมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก และยังไม่พบข้อมูลหลักฐานทางวิชาการที่ระบุการผสมข้ามพันธุ์ในธรรมชาติระหว่างปลาทั้ง 2 ชนิดประกอบกับเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา กรมประมงได้เคยทดลองเลี้ยงปลานิล ปลาหมอคางดำ ปลาหมอเทศ ร่วมกัน เพื่อศึกษาว่าหากอยู่ในแหล่งอาศัยเดียวกันจะสามารถผสมข้ามสายพันธุ์หรือไม่ ซึ่งผลการทดลองปรากฏว่า ไม่มีการผสมข้ามพันธุ์กัน

อีกทั้ง ยังพบปลานิลแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวโดยกัดปลาหมอคางดำด้วย ดังนั้น ความกังวลในเรื่องของการกลายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์นั้นจึงเป็นไปไม่ได้ ในส่วนภาพเปรียบเทียบรูปร่างที่ปรากฏในข่าวนั้น สามารถแยกชนิดจากลักษณะภายนอกได้อย่างชัดเจน ส่วนการที่จะระบุว่าปลาที่ปรากฎในข่าวเป็นปลาลูกผสมหรือไม่ ต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการ ทั้งด้านอนุกรมวิธานและทางอณูพันธุศาสตร์ โดยนักวิชาการที่มีความรู้เฉพาะทาง

อย่างไรก็ตาม เพื่อความสบายใจของพี่น้องเกษตรกรและประชาชน ได้มอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสมุทรปราการ ลงพื้นที่ไปยังบ่อเลี้ยงที่พบปลาดังกล่าวและเก็บตัวอย่างปลาเพื่อนำมาตรวจสอบทางวิชาการที่ห้องปฏิบัติการอนุกรมวิธานต่อไป