กรมประมงเปิดโผ “6 สัตว์น้ำพันธุ์ดี” เลี้ยงง่าย โตไว ผลผลิตได้คุณภาพ แนะเกษตรกรเลี้ยงสร้างรายได้

  •  
  •  
  •  
  •  

เปิดโผ “6 สัตว์น้ำปรับปรุงพันธุ์” จากกรมประมง เลี้ยงง่าย โตไว ให้ผลผลิตคุณภาพสูง แนะเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรเลี้ยงสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพิ่มศักยภาพการผลิต ยกระดับขีดความสามารถด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับการผลิตของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทย ให้สามารถผลิตสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดีเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน รวมถึงมีลักษณะปรากฏตรงตามความต้องการของตลาด ทั้งในเรื่องอัตราการเจริญเติบโต อัตราการรอดที่เพิ่มขึ้น และการทนต่อโรค ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการติดตามและประเมินผลความพึงพอใจด้านประสิทธิภาพผลผลิตจากเกษตรกรผู้ใช้ลูกพันธุ์จากกรมประมงอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเดินหน้ากระจายลูกพันธุ์สัตว์น้ำพันธุ์ดีออกสู่ภาคการผลิตในราคาที่เหมาะสม เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงลูกพันธุ์ของเกษตรกรให้สามารถนำไปเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์สำหรับการผลิตลูกพันธุ์จำหน่ายได้

ปัจจุบันกรมประมงมีความพร้อมและศักยภาพการผลิตสัตว์น้ำสายพันธุ์ใหม่เพื่อกระจายสู่เกษตรกร ทั้งหมด 6 สายพันธุ์ ดังต่อไปนี้ “ปลานิลจิตรลดา 3” : เป็นพันธุ์ปลานิลที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการคัดเลือกแบบหมู่จนได้สายพันธุ์ที่มีอัตรารอดและให้ผลผลิตสูง มีลักษณะเด่น คือ ส่วนหัวเล็ก ตัวหนา เนื้อแน่นและมาก เจริญเติบโตได้ดีกว่าพันธุ์จิตรลดาดั้งเดิม 40% จากการติดตามประเมินผลการเพาะเลี้ยงของเกษตรกรในปี 2565 พบว่ามีผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4% หน่วยงานผลิต ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำอุตรดิตถ์, ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์, ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี, ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร และศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำปทุมธานี

“ปลาตะเพียนขาวนีโอเมล” : เป็นพ่อพันธุ์ปลาตะเพียนขาวเพศผู้ที่ได้รับการพัฒนาพันธุ์จนสามารถนำไปผสมพันธุ์กับแม่พันธุ์ปกติและให้ผลผลิตเป็นลูกปลาตะเพียนขาวเพศเมียมากกว่า 80 % ให้ผลผลิตมากกว่าการเลี้ยงปลาตะเพียนขาวแบบรวมเพศ ไม่น้อยกว่า 24 % จากการติดตามประเมินผลการเพาะเลี้ยงของเกษตรกรในปี 2565 พบว่ามีผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 35.75% หน่วยงานผลิต ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์

“ปลานิลจิตรลดา 4” : เป็นพันธุ์ปลานิลที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีการคัดเลือกการจากประเมินจากค่าการผสมพันธุ์ของน้ำหนักเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง มีลักษณะเด่นคล้ายกับ “ปลานิลจิตรลดา 3” คือ ส่วนหัวเล็ก ลำตัวกว้าง สันหนา เจริญเติบโตได้ดีกว่าพันธุ์จิตรลดาดั้งเดิม 36% จากการติดตามประเมินผลการเพาะเลี้ยงของเกษตรกรในปี 2565 พบว่ามีผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4% หน่วยงานผลิต ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำปทุมธานี


“ปลาหมอชุมพร 1” : เป็นพันธุ์ปลาหมอไทยที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จากปลาหมอพันธุ์เพาะเลี้ยงของภาคใต้ โดยวิธีการคัดเลือกแบบหมู่ 4 รุ่น เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตสูง มีลักษณะเด่น คือ โตเร็ว และมีขนาดใหญ่ ส่วนหัวเล็ก และสันหนา มีอัตราการการเจริญเติบโตสูงกว่าปลาหมอสายพันธุ์เดิม 25.22 % จากการติดตามประเมินผลการเพาะเลี้ยงของเกษตรกรในปี 2565 พบว่ามีผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5.91% หน่วยงานผลิต ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร

“กุ้งขาวสิชล 1” : เป็นกุ้งขาวแวนนาไม (Litopenaeus vannamei) ที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ และพัฒนาพันธุ์ด้านการเจริญเติบโต โดยคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีลักษณะการเจริญเติบโตดี ปลอดจากเชื้อที่กำหนด 8 โรค คือ โรคตัวแดงดวงขาว (WSSV), โรคทอร่า (TSV), โรคกล้ามเนื้อขาวหรือกล้ามเนื้อตาย (IMNV), โรคแคระแกร็น (IHHNV), โรคหัวเหลือง (YHV), โรค covert mortality nodavirus (CMNV) และโรคตายด่วนเนื่องจากแบคทีเรียที่ทำให้เกิดตับวายเฉียบพลัน (EMS-AHPND) และเชื้อ Enterocytozoon hepatopenaei (EHP) พัฒนาจนได้สายพันธุ์ที่มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น 32.54 – 34.58 %สามารถเลี้ยงได้ทุกพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทย จากการติดตามประเมินผลการเพาะเลี้ยงของเกษตรกรในปี 2565 พบว่ามีผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 17.34% หน่วยงานผลิต ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำนครศรีธรรมราช

“กุ้งก้ามกราม มาโคร 1” : เป็นกุ้งก้ามกรามที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จากพ่อแม่พันธุ์กุ้งก้ามกรามสายพันธุ์เดิมที่ปลอดจากเชื้อ Macrobrachium rosenbergii nodavirus (MrNV) และ Extra small virus (XSV) จนมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น 5 – 15 % จากการติดตามประเมินผลการเพาะเลี้ยงของเกษตรกรในปี 2565 พบว่ามีผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 19.79% หน่วยงานผลิต ได้แก่ กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ และศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี

รองอธิบดีฯ กล่าวอีกว่า หากเกษตรกรท่านใดมีความสนใจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสายพันธุ์ดังกล่าวข้างต้น สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานผลิต หรือ กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โทร. 0 2904 7604, 0 2904 7805 และ 0 2904 7446