ประชุม “ทูน่าโลก ครั้งที่ 17” คึกคักไทยพร้อมจับมือทุกประเทศดันอุตสาหกรรมปลาทูน่าสู่ความยั่งยืน

  •  
  •  
  •  
  •  

เริ่มแล้วประชุม “ทูน่าโลก ครั้งที่ 17” คึกคักมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 400 คน ไทยพร้อมจับมือกับทุกประเทศทั่วโลกดันอุตสาหกรรมปลาทูน่าสู่ความยั่งยืนพร้อมต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย เผยไทยมีการนำเข้าปลาทูน่าถึงปีละ 720,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 21 ของปริมาณการนำเข้าของโลก ส่งออกประมาณ 495,000 ตัน

วันที่ 11 ตุลาคม 2565  นส.พ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม “ทูน่าโลก ครั้งที่ 17” (The Seventeenth INFOFISH World Tuna Trade Conference and Exhibition) หรือ “TUNA 2022”  ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2565  ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อ “การเสริมสร้างความยืดหยุ่น การปรับตัว และการเติบโตอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมปลาทูน่าโลก” เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องจากภาคอุตสาหกรรม ปลาทูน่าทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าว จัดโดยกรมประมง ร่วมกับ INFOFISH ที่ให้ประเทศไทยร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมและจัดแสดงสินค้า “ทูน่าโลก ครั้งที่ 17”ในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 400 คน

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การประชุมและจัดแสดงสินค้าปลาทูน่าโลกประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุมมาแล้ว 9 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมปลาทูน่าเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีห่วงโซ่คุณค่าทางการค้าสูง ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบและส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยในปี 2564 มีรายงานจาก Global Tuna Production and Trade ว่าปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าของโลกมีจำนวนมากถึง 2.8 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 317,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ประเทศไทยนั้นมีปริมาณการนำเข้าประมาณ 720,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 21 ของปริมาณการนำเข้าของโลก และมีปริมาณการส่งออกประมาณ 495,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 17.7 ของปริมาณการส่งออกของโลก ด้านอุตสาหกรรมปลาทูน่าของไทยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการแปรรูป และส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าที่แปรรูปแล้วไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของโลก โดยมีมูลค่ารวมสูงถึง 68,145 ล้านบาท

สำหรับด้านการค้าผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของอุตสาหกรรมปลาทูน่าและทรัพยากรปลาทูน่าจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของปลาทูน่าต่อระบบเศรษฐกิจโลกและระบบนิเวศทางทะเล รวมถึง การสนับสนุนการจัดการประชากรปลาทูน่าร่วมกัน โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความร่วมมือกับองค์กรจัดการประมงปลาทูน่าระดับภูมิภาค อาทิ การเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกการจัดการทรัพยากรประมงปลาทูน่าในมหาสมุทรอินเดีย  และความร่วมมือด้านการประมงในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนกลาง  ตลอดจนการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลกับรัฐเจ้าของธง รัฐเจ้าของท่า และรัฐชายฝั่งเป็นต้น

อธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า  การจัดการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมทางด้านวิชาการและการค้าปลาทูน่าของโลกที่ใหญ่ที่สุด และถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมปลาทูน่าในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์ในอุตสาหกรรมปลาทูน่าอย่างรอบด้าน อาทิ ความรู้ ทางวิชาการ สภาวะทรัพยากรปลาทูน่าทั่วโลก การบริหารจัดการทรัพยากรปลาทูน่า การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การกำหนดมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ การค้าและการตลาด ตลอดจนปัญหาและอุปสรรค ในเชิงธุรกิจ

รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการเจรจาทางธุรกิจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายภายในงาน อันจะยังประโยชน์ให้นําไปสู่การปรับตัว และสร้างความเข้าใจร่วมกันของอุตสาหกรรมปลาทูน่า รวมไปถึงเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมปลาทูน่าของโลก