อธิบดีกรมประมง ชี้ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ถือเป็นปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญและเป็นวิกฤติร่วมของทุกประเทศทั่วโลก ที่สามารถแพร่กระจายระหว่างคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม และแพร่กระจายข้ามพรมแดนระหว่างประเทศด้วย
วันที่16 กันยายน2565 เวลา 08.45 น. นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมระดับชาติ เรื่อง “เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ”(National Aqua AMR Forum) ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ50 ปีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า การประชุมในครั้งนี้เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาเชื้อดื้อยาในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผลในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการจัดการสุขภาพสัตว์น้ำที่ดี ซึ่งปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญและเป็นวิกฤติร่วมของทุกประเทศทั่วโลก
เนื่องจากเชื้อดื้อยาสามารถ แพร่กระจายระหว่างคน สัตว์สิ่งแวดล้อมและแพร่กระจายข้ามพรมแดนระหว่างประเทศโดยเมื่อวันที่17สิงหาคม 2561คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทยพ.ศ.2560–2564 เพื่อเสริมสร้างการบูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Approach)ซึ่งมีการประสานการทำงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในส่วนของภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกรมประมงร่วมกับสมาคมการค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำไทยจัดงานประชุมระดับชาติ เรื่อง เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือ National Aqua AMR Forum เพื่อนำเสนอผลการดำเนินการและผลลัพธ์ที่สำคัญให้กับบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ. 2560–2565 ตลอดจนเป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายความร่วมมือเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผลในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระหว่างภาคส่วนต่างๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ ภายในงานมีการบรรยายพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วนและนักวิชาการของกรมประมงซึ่งมีหัวข้อที่น่าสนใจได้แก่ “ผลสำรวจการใช้ยาต้านจุลชีพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย2565”“เจาะลึกยาต้านจุลชีพในวงการสัตว์น้ำ”“อย.กับการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์น้ำ”รวมถึงการเสวนาในหัวข้อ“อดีต ปัจจุบัน และทิศทางอนาคตของการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ”และ“ทางเลือกทดแทนการใช้ยาต้านจุลชีพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ”
นอกจากนี้ยังมีการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ“ลด ละ เลิกใช้ยาหยุดปัญหาเชื้อดื้อยาและสารตกค้าง”เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องเชื้อดื้อยาการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม และการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบ สมเหตุผล และลดความเสี่ยงในการเกิดเชื้อดื้อยาในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า…กรมประมง หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพื่อให้การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศสามารถแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาในระยะยาวต่อไป