ดลมนัส กาเจ
“การแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมกุ้งไทยวันนี้ เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมมือกัน มองภาพรวมของประเทศ เริ่มต้นด้วยแผนยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง เร่งจัดการปัญหาโรคกุ้ง และมุ่งพัฒนาการเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืน โดยมีกรมประมงในฐานะพี่ใหญ่ที่ต้อง “จริงจังและจริงใจ” ในการแก้ปัญหา มิใช่เปิดรับกุ้งนอกมาฆ่า (คนเลี้ยง) กุ้งไทย.”
อีกครั้งที่ นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ “บอร์ดกุ้ง” (Shrimp Board) ออกมาระบุเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 ว่า ทางบอร์ดกุ้งได้ชี้แจงกรณีนำเข้ากุ้งเพื่อแปรรูปส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศในช่วงผลผลิตในประเทศขาดแคลนเท่านั้น พร้อมยืนยันว่า ราคากุ้งดีต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ อาจมีผันผวนบ้างตามภาวะตลาด แม้เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจแต่มีระบบประกันราคากุ้งเป็นมาตรการรองรับ และจะไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน อ้างเป็นมติร่วมระหว่าง 8 องค์ คือกรเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ ท่ามกลางการคัดค้านมาตลอดของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่รวมถึงนักวิชาการด้วยส่วนหนึ่ง
อ้างผู้ประกอบการแปรรูปกุ้งทรุดหนักเหลืองเพียง 10%
นายเฉลิมชัย ระบุครั้งล่าสุดว่า การนำเข้ากุ้ง (จากอินเดียและเอกวาดอร์) มาจากปัญหาโรคกุ้งทะเล คุณภาพลูกพันธุ์กุ้ง และอาหารกุ้งในอดีต ทำให้การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องถดถอย ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปที่ส่งออกกุ้งทะเลเป็นหลักต้องปิดตัวลงจากเดิมที่มีอยู่เกือบ 200 แห่ง ปัจจุบันเหลือเพียง 20 แห่ง ขณะที่จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลก็ลดลง ทำให้ปริมาณการผลิตกุ้งของไทยที่เคยสูงสุดในปี 2552 ประมาณ 567,000 ตัน เหลือเพียงประมาณ 255,000 ตัน ในปี 2564 ซึ่งลดลงร้อยละ 55.03
ดังนั้นภายใต้การหารือของ ชริมพ์บอร์ด เกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้และยังคงมีศักยภาพทางการแข่งขันในระดับโลก ชริมพ์บอร์ด มีฉันทามติร่วมกัน 3 ฝ่าย คือผู้แทนเกษตรกร ประกอบด้วย สมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย สมาคมเครือข่าย ผู้เลี้ยงกุ้งไทย สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด ชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งภาคกลาง ชมรมผู้ผลิตลูกพันธุ์สัตว์น้ำ และกลุ่มคลัสเตอร์กุ้งกุลาดำไทย
ตัวแทน ผู้ประกอบการห้องเย็นและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ประกอบด้วย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมการค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และ หน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย กรมประมง และกรมการค้าภายใน
ยืนยันจะช่วยเหลือผู้เลี้ยงกุ้งไปจนถึง 31 ธ.ค. 65
นายเฉลิมชัย ระบุว่าในการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากต่างประเทศเฉพาะช่วงเวลาและปริมาณผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานแปรรูป ซึ่งมาตรการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลนี้เพื่อการแปรรูปและส่งออกเท่านั้น และกำหนดแผนการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดีย ปี 2565 ปริมาณรวม 10,501 ตัน จากปริมาณการผลิตกุ้งทะเลของไทยในปี 2565 (มกราคม – กรกฎาคม) 138,732.43 ตัน แลกกับการประกันราคาโดยภาคเอกชนซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา และจะยังคงช่วยเหลือเกษตรกรไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งผู้แทนเกษตรกรในชริมพ์บอร์ด เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว และได้มีการประกันราคากุ้งขั้นต่ำโดยภาคเอกชนเป็นครั้งแรก
สำหรับ การจัดตั้งชริมพ์บอร์ดในครั้งนี้ เป็นการจับมือของเกษตรกรและผู้แปรรูปเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ของอุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทย เพื่อแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการผลผลิตกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิตอย่างแท้จริง ทั้งด้านการผลิตและการตลาด ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลและผู้แปรรูปสามารถประกอบอาชีพในห่วงโซ่ได้อย่างยั่งยืน
“จากการประกาศราคาประกันของชริมพ์บอร์ด และเริ่มดำเนินการรับซื้อผลผลิตกุ้งทะเลจากเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา ส่งผลให้ราคากุ้งทะเลภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยพบว่า ราคากุ้งขาวแวนนาไม ณ ตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร ระหว่างเดือนตุลาคม 2564 – สิงหาคม 2565 ราคาเฉลี่ยรายเดือนปรับเพิ่มขึ้นทุกขนาด ประมาณ 6.32 – 12.70 บาท/กก. และราคากุ้งขาวแวนนาไมปากบ่อ ราคาเฉลี่ยรายเดือนปรับเพิ่มขึ้นทุกขนาดเช่นกัน ประมาณ 11.85 – 20.64 บาท/กก. ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าการนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศไม่กระทบกับราคากุ้งภายในประเทศแต่อย่างใด” อธิบดีกรมประมง กล่าว
เกษตรกรโวอ้างทุบซ้ำวิกฤติกุ้งไทย
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กรมประมง และชริมพ์บอร์ด ตัดสินใจให้นำเข้ากุ้งทะเลจากเอกวาดอร์และอินเดีย เสียงคัดค้านจากผู้เลี้ยงกุ้งและผู้เชียวชาญปะทุขึ้นมาทันที่ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการตัดสินใจที่ผลิดพลาดอาจจะนำไปสู่การทำลายวงการกุ้งภายในประเทศ เสมือนเป็นการทุบซ้ำวิกฤตวงการกุ้งไทยที่อาจทำให้ราคาตกต่ำลงในอนาคต
ผู้เลี้ยงกุ้งรายหนึ่งในภาคตะวันออก ให้ข้อมูลว่า ไทยเคยครองตำแหน่งผู้ผลิตและส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลกมาอย่างยาวนาน เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้เข้าประเทศนับแสนล้านบาทต่อปี แต่วันนี้กลับเสียแชมป์ให้ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามไปอย่างน่าเสียดาย ขณะที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งของโลก กลับมีภูมิภาคอเมริกา ที่เคยผลิตได้เป็นรองชาติในเอเชียมาตลอด กำลังวิ่งแซงหน้าโดยมีเอกวาดอร์เป็นผู้นำ การมาของกุ้งเอกวาดอร์ จึงสร้างความกังวลอย่างยิ่งต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย และยังมีกระแสข่าวการนำเข้ากุ้งอินเดียเข้ามาอีก
ชี้ไทยจะผลิตกุ้ง 4 แสนตันในปี 66 คงไม่มีทางเป็นไปได้เด็ดขาด
ผู้เลี้ยงกุ้งในภาคตะวันออกรายนี้ มีความเชื่อมั่นว่า หากเป็นเช่นนี้ความหวังที่จะพลิกฟื้นกุ้งไทย ให้สามารถทวงคืนแชมป์เบอร์ 1 กุ้งโลก ตามที่อธิบดีกรมประมงให้คำมั่น เมื่อครั้งเป็นประธานในงาน “วันกุ้งจันท์” ครั้งที่ 26 : 21 มี.ค. 2565 ว่าพร้อมจะร่วมสนับสนุนและผลักดันให้เกษตรกรสามารถสร้างผลผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาด และกลับมาผงาดในเวทีโลกได้อีกครั้ง ตามที่ได้วางเป้าหมายในการเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลให้มีผลผลิตปริมาณ 400,000 ตัน ภายในปี 2566 คงไม่มีทางเป็นไปได้ อย่างเด็ดขาด
ทางออกที่กรมประมงต้องเร่งดำเนินการคือ การผลักดันทุกวิถีทางให้เกษตรกรไทยสามารถสร้างผลผลิตกุ้งได้อย่างเพียงพอบนต้นทุนที่แข่งขันได้มิใช่การแก้ปัญหาง่ายๆด้วยการนำเข้ากุ้งทั้งจากเอกวาดอร์ อินเดีย หรือประเทศอื่นๆ เพราะมีความเสี่ยงเรื่องโรคระบาดจากต่างถิ่นที่อาจเข้ามา “ซ้ำเติมเกษตรกร”
เขา ย้ำด้วยว่า การแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมกุ้งไทยวันนี้ เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมมือกัน มองภาพรวมของประเทศ เริ่มต้นด้วยแผนยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง เร่งจัดการปัญหาโรคกุ้ง และมุ่งพัฒนาการเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืน โดยมีกรมประมงในฐานะพี่ใหญ่ที่ต้อง “จริงจังและจริงใจ” ในการแก้ปัญหา มิใช่เปิดรับกุ้งนอกมาฆ่า (คนเลี้ยง) กุ้งไทย.
ระบุรัฐบาล หมดท่าปล่อยนำเข้ากุ้งทำร้ายเกษตรกร
ด้านนายอักษร ขจรกาญจนกุล ประธานชมรมกุ้งตรังพัฒนา จ.ตรัง กล่าวว่า เกษตรกรประหลาดใจกับการตัดสินใจของกรมประมงตัดสินใจในครั้งนี้มาก ที่อนุมัตินำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียแบบไม่ทันตั้งตัว ทั้งที่ผ่าน กรมประมง ปกป้องเกษตรกรมาตลอด เนื่องจากกุ้งที่นำเข้าจะทำให้ราคากุ้งในประเทศตกต่ำ ไม่มีเสถียรภาพ มีความเสี่ยงเรื่องโรคที่ติดมากับกุ้ง รวมถึงเกิดปัญหาคุณภาพความปลอดภัย การปนเปื้อนของสารเคมีต้องห้ามและยาปฏิชีวนะ จะสร้างความเสียหายกับผู้เลี้ยงและห่วงโซ่การผลิต
ดังนั้นเกษตรกรขอเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทบทวนนโยบายการนำเข้ากุ้งจากทั้งสองประเทศนี้อีกครั้ง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและอนาคตของเกษตรกรเลี้ยงกุ้งไทย ที่มุ่งมั่นพัฒนาการเลี้ยงจนเป็นที่่ยอมรับในระดับโลก ก่อนที่การนำเข้าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลายห่วงโซ่การผลิตตลอดไป
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงกุ้งมาโดยตลอด ทั้งมาตรการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง โดยเฉพาะด้านการผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน GAP (Good Aquaculture Practice) และมาตรฐานสากล แต่ตอนนี้นำกุ้งจากต่างประเทศมาแปรรูปบรรจุใหม่ และนำไปส่งออกขายต่างประเทศในนามประเทศไทย อาจกระทบภาพลักษณ์กุ้งคุณภาพดีของไทยที่สร้างชื่อเสียงในระดับโลกมายาวนาน
“เป็นเรื่องที่ช็อกเกษตรกรมากที่รัฐบาลอนุญาตให้นำเข้ากุ้ง ทั้งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ระงับการนำเข้ามาโดยตลอด ทำให้เกษตรกรมุ่งมั่นพัฒนาระบบการเลี้ยงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต โดยมีราคาเป็นแรงจูงใจในการเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง หากมีการนำเข้ากุ้ง จะทำให้ราคาในประเทศตกต่ำ ทำลายภาคการผลิตของเกษตรกรทั้งระยะสั้นและระยะยาว” นายอักษร กล่าว
ขณะที่ นายปรีชา สุขเกษม เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลจังหวัดสงขลา มองว่า การนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศของผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคากุ้งทะเลภายในประเทศ
อัดรัฐหลงทิศ ไม่ปกป้องเกษตรกร เปิดบ้านนำเข้ากุ้งที่เกษตรกรผลิตได้เอง
ก่อนหน้านี้ นายสมเจตน์ สุขมงคล ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านสัตว์น้ำ เขียนบทความหลังจบการแถลงข่าว “Shrimp Board กับการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทย” ที่กรมประมง ร่วมกับสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์ไทย ว่า กรมประมงเชิญสื่อร่วมงานแบบโหลงเหลง หลังจากกรมประมงออกมายอมรับว่า มีการอนุญาตให้ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปสามารถนำเข้ากุ้งทะเลจากเอกวาดอร์และอินเดีย มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
ในบทความระบุว่า ยิ่งฟังก็ยิ่งทำให้คิดว่าเป็นวาทกรรมแสนแปลกประหลาด เพราะไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เกษตรกรภายในประเทศผลิตขึ้นเองได้ มีแต่จะปกป้องเกษตรกร และส่งเสริมการตลาดจนถึงการส่งออกเพื่อนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของชาติ
แม้อธิบดีกรมประมงจะยืนยันและอ้างว่า การนำเข้ากุ้งจากเอกวาอร์และอินเดียเป็นมติของ“บอร์ดกุ้ง” ที่จะเข้าช่วงที่ขาดแคลน เพื่อช่วยผู้ประกอบการนำมาแปรรูปและส่งออกก็ตาม แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจำนวนไม่น้อยที่คัดค้านและไม่เห็นด้วย เพราะอาจไปสู่การทำลายห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมกุ้งที่จะกระทบหลายด้านที่จะนำไปสู่การเกิดวิกฤตกุ้งและทำลายเกษตรกรในอนาคต เนื่องจากกรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นกับสิ้นค้าเกษตรมาหลายรายการมาแล้ว และยังคงอยู่เป็นครั้งแรก สอง สาม ฯลฯ ….. อย่างมะพร้าว เนื้อสัตว์ และอื่น…!!