นักวิจัย มก.พบ 2 กุ้งเต้นชนิดใหม่ของโลก “อัมพวา-พงษ์รัตน์”ที่อัมพวา

  •  
  •  
  •  
  •  

ทีมนักวิจัยจากภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบกุ้งเต้นชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิด ” กุ้งเต้นอัมพวา-กุ้งเต้นพงษ์รัตน์” ในแม่น้ำแม่กลอง ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บ่งชี้ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ป่าชายเลนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงของแม่น้ำสายนี้ มั่นใจอาจจะค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ในพื้นที่นี้ได้อีกในอนาคต

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย ดร.กรอร วงษ์กำแหง นายอโณทัย สุขล้อม และ ดร.ทศพล แซ่ตั้ง กีฏพิชญกุล ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ Assoc. Prof. Dr. Azman Abdul Rahim จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia ได้ร่วมกันพบกุ้งเต้นชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิด และได้ตั้งชื่อว่า “กุ้งเต้นอัมพวา” (Floresorchestia amphawaensis) กับ “กุ้งเต้นพงษ์รัตน์” (Floresorchestia pongrati) เพื่อเป็นเกียรติแก่ ผศ.พงษ์รัตน์  ดำรงโรจน์วัฒนา มหาวิทยาลัยบูรพา ผู้สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับกุ้งเต้นในประเทศไทย

ดร.กรอร วงษ์กำแหง กล่าวว่า อัมพวา ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสทุทรสงคราม เป็นสถานที่ที่รู้จักกันดีในฐานะของสถานที่ท่องเที่ยวที่มีทั้งความสวยงาม อาหารอร่อย และมีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมเนื่องจากเป็นเมืองเก่าที่มีผู้คนตั้งถิ่นฐานและสร้างอารยะธรรมท้องถิ่นมาเป็นเวลายาวนาน

ในอีกแง่มุมหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนนึกถึง คืออัมพวาเป็นส่วนหนึ่งของปากแม่น้ำแม่กลองที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมง เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการศึกษาความหลากชนิดของสัตว์หน้าดินบริเวณอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในการศึกษากุ้งเต้นที่พบในครั้งนี้ พบว่าเป็นสัตว์กลุ่มเดียวกับกุ้ง แต่อาศัยบริเวณชายน้ำ สำหรับ “กุ้งเต้นอัมพวา” ค้นพบโดย ดร.ปิยังกูล เหลืองเจริญกิจ ที่บริเวณบ้านริมคลองและท้องร่องสวนมะพร้าวในอำเภออัมพวา และ “กุ้งเต้นพงษ์รัตน์” พบอาศัยอยู่ริมน้ำในรีสอร์ทบ้านสวนนวลตาในอำเภออัมพวาเช่นกัน

“ปกติกุ้งเต้นจะสามารถอยู่ได้ในพื้นที่ที่สะอาดมีการไหลเวียนของน้ำที่ดี จึงมักมีการใช้เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำในระบบนิเวศทางทะเล การค้นพบครั้งนี้บ่งบอกถึงสภาพระบบนิเวศป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ของอำเภออัมพวาที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และอาจจะค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ในพื้นที่นี้ได้อีกในอนาคต” ดร.กรอร กล่าว

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยค้นพบกุ้งเต้นสองชนิดใหม่ของโลกเผยแพร่ลงในวารสาร Zoosystematics and Evolution เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://zse.pensoft.net/articles.php?id=83749

ข่าวโดย…ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์