กรมประมง – Shrimp Board อ้างเหตุผลที่นำเข้ากุ้ง ยืนันไม่กระทบกับราคาขายในประเทศ

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมประมง – Shrimp Board อ้างเหตุผลที่นำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทยที่ขาดแคลนวัตถุดิบ จากทเดิมที่เคยผลิตปีละ 5-6 แสนตัน ปัจจุบันเกษตรกรผลิตได้ 2.7 แสนตัน ประกาศ พร้อมดันผลผลิตกุ้งทะเลให้ได้ 4 แสนตันในปี 2566 มั่นใจการนำเข้ากุ้งทะเลจากอินเดียและเอกวาดอร์ไม่กระทบผลผลิตและราคาในประเทศ

วันที่ 8 สิงหาคม 2565 นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์อธิบดีกรมประมง กล่าวระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับ Shrimp board ถึงแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทยให้มั่นคงในตลาดโลก ที่กรมประมงว่า ด้วยความร่วมมือร่วมใจของภาครัฐ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ในการเดินแผนสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน เพื่อดันผลผลิตกุ้งไทยให้ได้ปริมาณ400,000 ตัน ภายในปี 2566 จากการที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้จับมือร่วมกันเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก โดยตั้งเป้าหมายให้ได้ผลผลิต 400,000 ตัน ในปี 2566

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp boardซึ่งประกอบด้วยภาครัฐ ได้แก่ กรมประมง และกรมการค้าภายในผู้แทนผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมถึงผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล รวม 21 ท่าน ร่วมกันวางแผนเพื่อบริหารจัดการผลผลิตกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ถึง 31 ธันวาคม 2565 ทำให้ราคาจำหน่ายกุ้งขาวฯ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564เป็นต้นมา ตามพันธกิจที่สำคัญ คือ กรมประมงจัดทำแผนการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล โดยในปี 2565 มีเป้าหมาย 320,000 ตัน และ ปี 2566 มีเป้าหมาย 400,000 ตัน

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2565 ประเทศไทยมีผลผลิตกุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงรวมทั้งสิ้น 138,733.18 ตัน จำแนกเป็นกุ้งขาวแวนนาไม 129,100.44 ตัน (ร้อยละ 93.06) และกุ้งกุลาดำ 9,632.74 ตัน (ร้อยละ 6.94) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค. – ก.ค. 64) ผลผลิตลดลงร้อยละ 3.09 ถึงแม้ว่ากรมประมงจะมีนโยบายในการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล และลงพื้นที่ดูแลพี่น้องเกษตรกรอย่างใกล้ชิด แต่การขาดความเชื่อมั่นด้านราคาเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไม่ปล่อยกุ้งลงเลี้ยงอย่างเต็มศักยภาพ ทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลในภาพรวมลดลง

ดังนั้น เพื่อรักษาตลาดและผู้ประกอบการส่งออกสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ Shrimp Board จึงมีข้อตกลงร่วมกันในการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากต่างประเทศเฉพาะช่วงเวลาและปริมาณผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อย ภายใต้เงื่อนไขที่ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปจะรับซื้อผลผลิตกุ้งทะเลจากเกษตรกรโดยประกันราคาซื้อ – ขายขั้นต่ำ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาของกุ้งทะเลภายในประเทศไว้ โดยเริ่มดำเนินการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ส่งผลให้ราคา กุ้งทะเลภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ในปี 2565 Shrimp Board กำหนดแผนการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดีย ปริมาณรวม 10,501 ตัน ทั้งนี้ตั้งแต่มีการอนุญาตให้นำเข้าฯ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 มีการนำเข้ากุ้งขาวฯ จากสาธารณรัฐเอกวาดอร์ในเดือนมิถุนายน2565จำนวน 41.95 ตัน คิดเป็นมูลค่า 10.24 ล้านบาท แต่ยังไม่พบการนำเข้ากุ้งขาวฯ จากสาธารณรัฐอินเดียแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ากรมประมงจะมีการอนุญาตให้นำเข้ากุ้งจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดียแต่กรมประมงให้ความสำคัญกับการควบคุมโรค โดยดำเนินการอย่างรัดกุมก่อนการอนุญาตให้นำเข้ากุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดีย โดยได้ประเมินระบบการควบคุมโรคของทั้ง 2 ประเทศซึ่งมีข้อกำหนดในการพิจารณาหลายมิติครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลแช่แข็งสำหรับการส่งออกมายังประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคข้ามพรมแดนผ่านการนำเข้ากุ้งทะเลแช่แข็งอย่างเด็ดขาด

ด้านนายผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า เหตุผลและความจำเป็นในการที่สมาชิกสมาคมฯ ต้องมีการนำเข้าสินค้ามาผลิตและแปรรูปส่งออกเพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมกุ้งของไทยโดยรวม คือสมาชิกสมาคมฯ ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปเพื่อส่งออก โดยรวมคือผู้ซื้อกุ้งรายใหญ่ของประเทศ ในช่วงที่ประเทศไทยมีผลผลิตปีละประมาณ500,000 -600,000 ตัน โรงงานแปรรูปจะซื้อกุ้งคิดเป็นร้อยละ 85ของผลผลิตกุ้งทั้งหมด เหลือบริโภคในประเทศร้อยละ15

ปัจจุบันเกษตรกรผลิตได้ 270,000 ตัน โดยมีการห้ามนำเข้าตลอดมา  โรงงานจำเป็นต้องปิดตัวลงเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ ในช่วงเวลาเดียวกัน เกษตรกรในต่างประเทศมีการเลี้ยงกุ้งมากขึ้น ในสถานการณ์ปัจจุบัน เอกวาดอร์อินเดียเวียดนามอินโดนีเซีย ผลิตกุ้งได้รวมกันประมาณ 2,700,000 ตัน คือสิบเท่าของประเทศไทย ทำให้ราคาอ้างอิงในตลาดโลกเปลี่ยนจาก “ราคามหาชัย” ไปเป็น ราคาเอกวาดอร์ และอินเดีย ที่เลี้ยงได้โดยต้นทุนต่ำกว่าไทย ลูกค้าใช้ราคาอ้างอิงนี้ในการเจรจาสั่งซื้อ ทำให้ไทยไม่สามารถอ้างราคากุ้งในประเทศได้เหมือนเมื่อก่อน