กรมประมงเดินหน้า “ร่วมอาสาพาปลากลับบ้าน” ผุดเฟส 2 “พาจากโขงสู่หนองหาร”

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมประมงจับมือ 32 ชุมชนอนุรักษ์ เดินหน้าต่อ “โครงการประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้าน” ผุดเฟส 2  “ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้านจากโขงสู่หนองหาร”  เพื่อเพิ่มประชากรปลาไทยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จากเป้าที่กำหนด 3 แหล่งน้ำใหญ่ “หนองหาร-บึงบระเพ็ด -กว๊านพะเยา”  เป้าหมาย 90 ล้านตัวทั้งปลากินพืชและปลาหนัง

วันที่ 27 มิถุนายน 2565 นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้านจากโขงสู่หนองหาร” ณ บ้านปากบัง  ตำบลพิมาน อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม  เพื่อปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 2 ล้านตัว ลงสู่ลำน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม พร้อมมอบเงินอุดหนุนโครงการชุมชนเข้มแข็งฯและมอบชุดเพาะฟักเคลื่อนที่แก่องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นจำนวน 3 ชุมชน

                                                                    บัญชา สุขแก้ว

นายบัญชา  กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อปี 2564 กรมประมงได้ดำเนินโครงการ “ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้าน” เพื่อฟื้นฟูผลผลิตสัตว์น้ำคืนความอุดมสมบูรณ์สู่ระบบนิเวศต้นน้ำและแม่น้ำสาขา ด้วยการร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดของไทย ด้วย “ชุดอุปกรณ์เพาะพันธุ์ปลาแบบเคลื่อนที่” (Mobile hatchery) และนำผลผลิตลูกปลาวัยอ่อนที่ได้ปล่อยคืนสู่ต้นน้ำที่เป็นแหล่งกำเนิด ซึ่ง 2 พื้นที่เป้าหมาย คือ หนองหาร จังหวัดสกลนคร และกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา

จากการที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในเฟสที่ 1 ผลปรากฏว่า สามารถสร้างผลผลิตทรัพยากรปลาไทยและปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้มากถึง 76.79  ล้านตัวสามารถเพิ่มอาหารโปรตีนราคาถูกและเพิ่มรายได้ให้ประชาชน พร้อมดึงคนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรประมง เกิดการพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำสำคัญให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ กลายเป็นแหล่งการทำประมงที่สำคัญในภูมิภาค สร้างอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวประมงและประชาชนในพื้นที่

ด้วยเหตุนี้ กรมประมง จึงขยายผลไปยังแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่อื่นๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการการบริโภคทรัพยากรสัตว์น้ำที่เพิ่มขึ้น โดยมีแนวคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงด้วยโครงการ “พัฒนาและเพิ่มความอุดมสบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำและคงความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ 3 แหล่งน้ำ (หนองหาร บึงบอระเพ็ด กว๊านพะเยา) ด้วยชุด Mobile hatcheryเพื่อดำเนินการเพาะพันธุ์และนำลูกพันธุ์ปลาในระยะแรกฟัก (2 วัน) ไปปล่อยในพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งผสมพันธุ์วางไข่และเลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำ โดยโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในฤดูปลาน้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน(ฤดูน้ำแดง)เนื่องจากช่วงเวลานี้มีน้ำหลากระดับน้ำเพิ่มสูงเป็นฤดูกาลอพยพของปลาเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ตามธรรมชาติ

สำหรับชนิดพันธุ์ปลาที่ได้ดำเนินการเพาะขยายพันธุ์ จำนวน 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มปลากินพืช ได้แก่ ปลาตะเพียน ปลาตะเพียนทอง ปลากาดำ และปลากระแหและ 2.กลุ่มปลาหนัง ได้แก่ ปลาสวาย ปลาเทโพและปลากดเหลือง ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการเพิ่มผลผลิตในโครงการนี้ และได้ดำเนินการในบริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำสายหลักหรือปากแม่น้ำโขง ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ร่วมกับชุมชนประมงอนุรักษ์ในพื้นที่รวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาไข่แก่ น้ำเชื้อสมบูรณ์ ฉีดฮอร์โมนผสมเทียม รีดไข่ เพาะฟักจนออกเป็นตัวอ่อน และนำลูกปลาวัยอ่อนบรรจุถุงควบคุมอุณหภูมิแล้วนำไปปล่อยลงในพื้นที่เป้าหมายแหล่งต้นน้ำ 3 พื้นที่ คือ บึงบอระเพ็ด หนองหาร และกว๊านพะเยาพื้นที่ละ 30 ล้านตัว รวมจำนวนทั้งสิ้น 90 ล้านตัว

นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้เรียนรู้ในทุกกระบวนการขั้นตอน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งนี้ โดยกรมประมงได้มีการสนับสนุนการสร้างแหล่งอาหารสำรองเพื่อรองรับจำนวนลูกปลาที่จะนำมาปล่อย เป็นการเพิ่มอัตราการรอดและการเติบโตของลูกปลาจำนวนมาก หลังจากนำไปปล่อยในพื้นที่แหล่งต้นน้ำและจะมีการประเมินความชุกชุมการแพร่กระจายและการเติบโตของพันธุ์ที่นำมาปล่อยอีกด้วย ภายใต้การมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นและผู้นำชุมชนในพื้นที่ด้วย