เชิดชูฮีโร่โลมา “วายุ นวลกุล” มอบประกาศเกียรติคุณ-เงินสมนาคุณ ที่ปกป้องสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมประมง เชิดชูเกียรติไต๋เรือประมงนำเที่ยวเมืองคอน “วายุ นวลกุล” เป็นฮีโร่โลมา ช่วยชีวิตลูกโลมาติดอวนของชาวประมงได้สำเร็จ  มอบประกาศเกียรติคุณและเงินสมนาคุณในการทำความดีปกป้องสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม

    วันที่ 10 ธันวาคม 2564 นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยนายพรศักดิ์ ศักดิ์ธานี ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช นายจิรโรจน์ สำแดง นายอำเภอขนอม และนายธานินทร์ ด่านสุวรรณ นายกสมาคมประมงขนอม ลงพื้นที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช มอบประกาศนียบัตรเพื่อประกาศเกียรติคุณให้แก่ นายวายุ นวลกุล ว่าเป็นบุคคลตัวอย่างของการทำคุณประโยชน์ด้านการอนุรักษ์สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม และเป็นแบบอย่างให้พี่น้องชาวประมงและประชาชน

                                                           วายุ นวลกุล

    ทั้งนี้จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ที่นายวายุ นวลกุล หรือ น้องต๊ะ ไต๋เรือนำเที่ยว สังเกตเห็นแม่โลมากระโดดอยู่กลางทะเลบริเวณแถวหน้าอ่าวเตล็ด อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงได้ขับเรือเข้าไปใกล้ ๆ พบลูกโลมาติดอวนประมงลอยอยู่ และได้กระโดดลงไปเพื่อช่วยชีวิตจนสำเร็จ พร้อมกันนี้ ทางสมาคมประมงขนอมจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมประจำปีเพื่อเผยแพร่ให้ผู้ประกอบอาชีพชาวประมงได้รับทราบ และจะพิจารณาการมอบเงินเพื่อตอบแทนความดีให้ในโอกาสต่อไป

    นายบัญชา กล่าวในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการป้องกัน แก้ไขปัญหา และประสานงานการปฏิบัติเกี่ยวกับผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมว่า เหตุการณ์นี้ กรมประมง ต้องขอขอบคุณ ยกย่อง และขอชื่นชมในความมีจิตสำนึกอนุรักษ์ต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ไม่นิ่งนอนใจเพิกเฉยต่อชีวิตสัตว์โลก เสียสละกระโดดลงไปในทะเล โดยไม่ห่วงความปลอดภัยของตัวเอง เพื่อช่วยเหลือลูกโลมาหลังโหนกที่ติดอวนอยู่ในทะเล จนลูกโลมารอดปลอดภัย

      สำหรับการมอบประกาศเกียรติคุณ ในการทำความดีปกป้องสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมให้กับนายวายุ นวลกุล หรือ น้องต๊ะ ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติที่สำคัญนอกเหนือสิ่งอื่นใด คือกลยุทธ์ด้านการสื่อสารกับภาคประชาสังคม เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม วิธีการช่วยชีวิตและลดการบาดเจ็บ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวังและช่วยชีวิตของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ตามแนวทางระบบการอนุรักษ์ที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและเชื่อมต่อกัน

     หลังจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 3 ชุด ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการป้องกัน แก้ไขปัญหา และประสานงานการปฏิบัติเกี่ยวกับผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม 2) คณะอนุกรรมการวิชาการเพื่อจัดทำข้อมูลสนับสนุนการแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม และ 3) คณะกรรมการเฉพาะกิจเจรจาแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม จะขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566– 2570 ต่อไป